xs
xsm
sm
md
lg

"รอมแพง" เกมเสริมสร้างจินตนาการในงานเขียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"จันทร์ยวีร์ สมปรีดา" หรือนามปากา "รอมแพง" นักเขียนนวนิยายชื่อดังจากผลงาน "บุพเพสันนิวาส" เปิดเผยไลฟ์สไตล์อีกมุมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม รวมถึงการนำแนวคิดของเกมมาประยุกต์ใช้กับการเขียนนิยาย และประโยชน์ที่ได้จากการเล่นเกม

เติบโตมากับ "แรคนาร็อก"
"เป็นเด็กบ้านนอก สมัยก่อนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เนท ก็จะเล่นกระโดดยาง หมากเก็บ มอญซ่อนผ้า เกมตามคำบอก หรือเกมในหนังสือพวกเกมคำศัพท์ พอโตขึ้นมาหน่อย เริ่มเรียนมัธยมก็เริ่มมีเกมในพีซี จำได้ว่าเล่นเกมพีซีครั้งแรกคือเกมแรคนาร็อก ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยจนใกล้ๆจบเล่นแรคนาร็อกมาตลอด พอเรียนจบมาได้สัก 5 6 ปี ก็มีเกมมังกรหยกออนไลน์ และเกมอื่นๆก็เข้ามา ส่วนใหญ่เกมในยุคนั้นจะเป็นสองมิติ จากนั้นเกมก็พัฒนาเรื่อยๆเป็นสามมิติ ตอนนี้ก็ยังเล่นเกมอยู่ แต่ตอนนี้เล่นมือถือเพราะพกสะดวก และจะเลือกเกมที่ไม่ต้องทำเควสต์ต่อเนื่องมากนักเพราะมีงานต้องทำ อย่างตอนนี้หยุดเล่นไปเลยเพราะต้องเร่งเขียนนิยายให้จบ"

เกมคือการ "ผจญภัย" และ "อิสระ"
"การเล่นเกมเหมือนกับเราเข้าไปผจญภัยอีกโลกใบนึง เป็นตัวตนเราแต่เป็นตัวตนเราอีกตัวตนนึง ที่ทำอะไรที่ไม่เหมือนกับตัวเราในชีวิตจริง เหมือนกับเราเป็นอิสระมากขึ้นที่จะพูดที่จะคิด เพราะไม่มีใครรู้จักเรา หรือรู้จักเราก็รู้จักแค่รูปร่างหน้าตาในเกม เพราะชื่อก็ไม่ได้บ่งบอกอะไรอยู่แล้ว มีความเป็นอิสระมากขึ้น พอเข้าไปในเกมจะรู้จักคนหลากหลาย บางคนเป็นศัตรูในเกม บางทีจากศัตรูก็กลายเป็นมิตรกลายเป็นเพื่อนมันมีหลากหลายมิติในตัวเกม"

เกมเสริมสร้าง "จินตนาการ" ในงานเขียน
"เกมมีส่วนเสริมสร้างจินตนาการในการเขียนนิยาย จินตนาการที่พอเราเข้าไปอยู่ในอีกโลกที่เราจะเป็นอะไรก็ได้ เราสร้างภาพยังไงก็ได้ บางเกมมีลักษณะภาพวิวแตกต่างจากโลกของความเป็นจริงเป็นการกระตุ้นจินตนาการที่นอกเหนือจากการอ่านหนังสือ ถ้าเป็นในเกมเราต้องไปทำเควสต์ แต่ถ้าเป็นนิยายเราคิดพลอตขึ้นมาเองจากแรงบันดาลใจหรือสิ่งรอบตัว นิยายก็จะต้องมีเควสต์ของตัวละครที่ต้องไปผจญภัยไปฝ่าฝัน เราจะบรรยายอย่างไรให้คนอ่านคล้อยตามเห็นภาพได้ ซึ่งการที่เราเล่นเกมก็จะช่วยได้มากในการคิดว่าถ้าตัวละครเจอแบบนี้จะตอบโต้แบบไหน"

"คาแรคเตอร์" ตัวละครต้องชัด
"ในโลกความเป็นจริงเราไม่สามารถลงลึกไปในคาแรคเตอร์ชัดเจนกับคนรอบข้างที่เรารู้จักได้ เรารู้แค่เขาเป็นคนอย่างนี้ พูดจาอย่างนี้ แต่ถ้าในเกมทุกสิ่งทุกอย่างในคาแรคเตอร์ตัวละครมันชัด เกมมันจะแบ่งแยกเป็นอาชีพอะไรไป แต่ละอาชีพก็ไม่เหมือนกัน บางเกมจะต้องวางแผนเพราะเมื่อเลเวลเพิ่มจะไปเสริมสเตตัส เราต้องวางแผนถ้าเราทำอาชีพนี้ เราควรทำแบบไหนเพื่อเพิ่มสเตตัส ในนิยายก็เหมือนกันเราต้องวางแผน ตัวเอกต้องไปเจออะไรบ้าง ตัวเอกต้องมีทักษะอะไรบ้าง ถ้าคาแรคเตอร์ตัวละครชัดเจน ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครให้คนจดจำได้ง่ายขึ้น"

คนรักจาก "มังกรหยกออนไลน์"
"ต่างคนต่างมาเล่นเกมมังกรหยก เจอกันในเกม เขาใช้ชื่อว่า "มารราคะ" ซึ่งเป็นชื่อที่ช่างกล้าาาา(ลากเสียงยาว) แล้วคือเขาไม่บู๊ เราเป็นฝ่ายบู๊ เขาเป็นช่างตัดไม้เรียนสกิลเพื่อความอยู่รอดไม่ใช่สกิลต่อสู้ แต่เราชอบต่อสู้ ซึ่งเขาก็ดูเงียบๆ เราก็ชอบ อาจจะเป็นความชอบส่วนตัวที่ชอบผู้ชายขรึมๆ แต่ตัวจริงก็ไม่เงียบนะ ที่ไม่พิมพ์เพราะเขาพิมพ์ไม่เก่ง ก็คบหากันมาเรื่อยๆ จนได้แต่งงานกัน การมีแฟนเป็นคนเล่นเกมก็ดีเพราะเขาเองก็เข้าใจเรา เราก็เข้าใจเขา บางทีเล่นคนละเกมก็อยู่กันได้ ต่างคนต่างเล่นเกมของตัวเอง แต่ถ้ามีเกมน่าสนใจก็มาเล่นด้วยกันช่วยเหลือกันในเกม เขาเป็นฝ่ายซัพพอร์ตอยู่แล้ว เราเป็นฝ่ายบู๊อยู่แล้ว คือถ้าสร้างกิลด์เราก็เป็นหัวหน้า"

เกมให้ความเพลิดเพลิน และสานสัมพันธ์ครอบครัว
"เกมให้ความเพลิดเพลินผ่อนคลาย ถ้าเราเข้าใจว่ามันเป็นเกม บางคนเล่นเกมแล้วเครียด เพราะไม่คิดว่าเกมคือเกม คิดว่าเกมคือเรา อย่างนั้นจะใส่อารมณ์ในเกมเยอะ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันมีคำหยาบ แต่ตัวเกมก็มีระบบเกมเซนเซอร์คำหยาบไว้อยู่แล้ว ก็ลดความรุนแรงได้ในระดับนึง นอกจากนั้นเกมยังเป็นเครื่องมือในการสานสัมพันครอบครัว ถ้าเล่นเกมเดียวกันก็สนับสนุนไปด้วยกัน"


กำลังโหลดความคิดเห็น