xs
xsm
sm
md
lg

"อีสปอร์ตไทย" จะก้าวไกลภายใต้การสนับสนุนจากผู้ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

The International 2017
หลังจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทยรับรองให้ "อีสปอร์ต" เป็นกีฬา แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็เริ่มสว่างชัดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์ไซเบอร์เกม 2018 ที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี ไปถึงการรับรองสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เพื่อคัดเลือกปลุกปั้นนักกีฬาอีสปอร์ตไทยให้เก่งกาจไปต่อสู้กับนักกีฬาอีสปอร์ตต่างชาติ เชื่อว่าปีหน้า 2561 จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญและจะเป็นการก้าวกระโดดของวงการอีสปอร์ตไทย ที่อาจจะได้เห็นนักกีฬาอีสปอร์ตไทยไปยืนเด่นตระหง่านในเวทีระดับโลก
เงินรางวัลรวมจากรายการ The International 2017 แตะ 24 ล้านเหรียญสหรัฐ
อีสปอร์ต = กีฬา
"อีสปอร์ต"(Electronic Sports หรือ E-Sport) ชื่อนี้ถูกพูดถึงในบ้านเราอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำหรับเด็กวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่จะไม่รู้สึกงงสงสัยกับคำว่าอีสปอร์ตเท่าไรนัก เนื่องจากอีสปอร์ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงในโลกสมัยใหม่ไปแล้ว แต่สำหรับผู้ใหญ่บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจกับว่าอีสปอร์ต คืออะไร แล้วการเล่นเกมมันมาเป็นกีฬาได้อย่างไร??

3 ปัจจัยหลักที่ทำให้อีสปอร์ตที่เป็นการแข่งเกมถูกมองว่าเป็นกีฬา ได้แก่ การฝึกซ้อม , เงินรางวัล และผู้ชม สำหรับ "การฝึกซ้อม" ของนักกีฬาอีสปอร์ต จะใช้เวลาในการฝึกซ้อมประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็เทียบเท่าได้กับนักกีฬาทั่วไป "เงินรางวัล" ในวงการอีสปอร์ตเป็นสิ่งที่ทำให้ใครหลายๆคนที่อยู่นอกวงการเกมต้องตกใจ ปัจจุบันเงินรางวัลรวมในทัวร์นาเมนต์การแข่งขันเกมต่างๆ อย่างต่ำก็ต้องมีหลักล้าน โดยรายการที่ถูกกล่าวขวัญในเรื่องเงินรางวัลมากที่สุดก็คือ The international 2017 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้เกม Dota2 ในการแข่งขัน มีเงินรางวัลรวมกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 660 ล้านบาท เรียกว่าเงินรางวัลมากกว่าการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นเสียอีก

"ผู้ชม" เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การแข่งขันเกมถูกนำมาเปรียบเทียบกับกีฬา ถ้าฟุตบอลโลกมีคนดูพร้อมกันถึงหลักล้านคน อีสปอร์ตก็มีคนดูพร้อมกันถึงหลักล้านคนเช่นกัน ข้อมูลจาก "วาล์ว"(Valve) ระบุว่าการแข่งขันเกม Dota2 ในทัวร์นาเมนต์ The International 2017 มีคนดูพร้อมกันสูงสุดถึง 5 ล้านคน(นับรวมทุกช่องทาง) ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเยอะมากในเรื่องของยอดคนดู แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเกม Dota2 เป็นเกมดังที่มีฐานผู้เล่นทั่วโลก และแน่นอนว่าเมื่อมีทัวร์นาเมนต์ใหญ่จัดขึ้น ผู้เล่นที่เล่นเกมนี้อยู่แล้ว จะเฝ้ารอชมการแข่งขันสุดยิ่งใหญ่นี้ที่คัดเอาทีมที่ดีที่สุดจากทั่วโลกมาชิงชัยกัน
คณะผู้บริหารสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย
"สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย" โอกาสสดใสของอีสปอร์ตไทย

สำหรับสถานการณ์อีสปอร์ตในบ้านเราที่เคยมืดมนมาอย่างยาวนาน ล่าสุดดูว่าหนทางจะเริ่มสดใสเมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ได้รับรองให้ "อีสปอร์ต" เป็นกีฬา และอนุมัติให้ สมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA (Thai e-Sport Association) ของคุณสันติ โหลทอง เป็นผู้บริหารดูแลกีฬาอีสปอร์ตในไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย(Thailand E-Sport Federation หรือ TESF)

สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย จะทำงานภายใต้สังกัดของกกท. โดยจะได้รับเงินสนับสนุนมาบริหารจัดการงานในสมาคม โดยมีพันธกิจหลักในการจัดแข่งกีฬาอีสปอร์ตในประเทศ คัดเลือกนักกีฬาอีสปอร์ตตัวแทนทีมชาติไทย เพื่อไปแข่งในรายการต่างๆทั่วโลก ที่ครอบคลุมมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก , เอเชียนเกมส์ หรือซีเกมส์

ภายใต้สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย จะมีชมรมแยกย่อยลงไปอีก 23 ชมรม ซึ่งประกอบด้วย League of Legends, DOTA 2, Hearthstone, Counter-Strike Global Offensive, Overwatch, PlayerUnknown's Battlegrounds (PUBG), Special Force, ROV: Arena of Valor, Vainglory, Minecraft, Starcraft, Street Fighter, TEKKEN 7, FIFA 18, Pro Evolution Soccer, Monster Hunter, Simulator: Racing, Virtual Reality, ชมรมเกมจากผู้พัฒนาไทย, ชมรมผู้บรรยายเกม, ชมรมอีสปอร์ตหญิง, ชมรมวิจัยอีสปอร์ตภายในประเทศ และชมรมปฏิบัติการสมาคมไทยอีสปอร์ต ซึ่งเป้าหมายของการจัดตั้งชมรมคือการทำแคมป์ทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการ โดยผ่านการคัดกรองจากชมรมต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้น
คุณค็อน ฮ็อกบิน ประธานกรรมการบริหารเวิลด์ไซเบอร์เกม
"WCG2018" จัดกรุงเทพ เฟสติวัล เกม-เทคโนโลยี-ดนตรี

การมีสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ข่าวดีเพียงข่าวเดียวที่เกิดขึ้น อีกหนึ่งข่าวดีก็คือรายการแข่งขันเกมสุดยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง "เวิลด์ไซเบอร์เกม"(World Cyber Games-WCG) จะกลับมาอีกครั้งในปีหน้า โดยรอบสุดท้ายจะจัดกันที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี ในเดือนเมษายนปี 2561

หลังจากห่างหายไป 4 ปี มหกรรมแข่งขันเกมสุดยิ่งใหญ่ "เวิลด์ไซเบอร์เกม"(World Cyber Games-WCG) จะกลับมาจัดกันอีกครั้ง โดยการแข่งขันรอบสุดท้ายของ WCG2018 จะมาจัดกันที่บ้านเรา ณ อิมแพคอารีนา ระหว่างวันที่ 26 ถึง 29 เมษายนปีหน้า เบื้องต้นใช้ 4 เกมในการแข่งขันได้แก่ DOTA 2, Counter-Strike , Heroes of Newerth และ Clash royale ด้านรายชื่อเกมอื่นๆที่ใช้แข่งจะเปิดเผยเพิ่มเติมเร็วๆ นี้

WCG2018 จะจัดขึ้นภายใต้ธีม “Global E-Sports Festival for a Better World” แสดงให้เห็นถึง “ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา” ของผู้เข้าแข่งขันประเภทต่างๆรวมถึงการแสดงนวัตกรรมใหม่ๆและการแสดงดนตรีประเภท Live ที่กระจายอยู่ในโซนงาน นอกจากนั้นแล้วการจัดการแข่งขัน WCG ที่จะถึงนี้จะมุ่งเน้นการยกระดับการจัดงานให้เป็น “มหกรรมการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตระดับโลก” เพื่อดึงดูดกลุ่มคนทุกระดับวัยให้สนใจการแข่งขันอีสปอร์ตมากขึ้นรวมถึงผลักดันให้เกิดทัศนคติด้านบวกในการเล่นเกม พร้อมแนะนำการเล่นเกมที่ถูกวิธีและมีวินัยในตนเองซึ่งจะทำให้ผู้เล่นมีความสุขอิ่มเอมใจและสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ดีแก่สังคมอีกทั้งยังสามารถส่งเสริมในเรื่องน้ำใจของนักกีฬาในการรู้แพ้รู้ชนะอีกด้วย

ไฮไลท์งาน WCG 2018 นั้นคือการผสมผสานระหว่างการเล่นเกมและดนตรีเข้าด้วยกัน โดยจะแบ่งเป็น 4 โซน อาทิ Super Arena ซึ่งจะเป็นที่จัดการแข่งขันอีสปอร์ต, New Horizonsนำเสนอการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ก้าวล้ำนำสมัย, Festival โซนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม (คอนเสิร์ต การแสดงดนตรีต่างๆ) และโซนสุดท้าย Fan Stadium ซึ่งเป็นโซนนิทรรศการ

สำหรับโซน Super Arena จะแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองระดับคือ ระดับ Master และ Premium ในระดับ Master นั้น จะเป็นการแข่งขันเกมต่างๆ อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และในระดับพรีเมี่ยมจะเป็นเกมการแข่งขันที่มีชื่อเสียงในภูมิภาค โดยเกม DOTA 2,Counter-Strike และ Heroes of Newerth จะถูกนำมาอยู่ในการแข่งขันระดับ Master ส่วนรายละเอียดเกมอื่นๆ จะมีการอัพเดทต่อไปในอนาคตอันใกล้

ในโซนของ New Horizons จะจัดให้มีการแสดงนวัตกรรมล้ำยุคล้ำสมัย แสดงถึงโลกยุคดิจิทัลที่ไร้ขีดจำกัด โซนดังกล่าว จะประกอบไปด้วยเกมที่มีการประยุกต์ใช้ Virtual Reality (VR) และ Drones จากผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีทัวร์นาเมนท์การแข่งขัน Drone Champions League (DCL)อีกด้วยและเพื่อผลักดันให้งานเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของการจัดการแข่งขัน นั่นคือ การผลักดันทัวร์นาเมนท์การแข่งขันให้เข้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในโซนนี้ จะมีการจัดผู้เล่น Drones ที่ดีที่สุดในโลกเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนั้นแล้ว HTC Vive จะถูกนำมาใช้ในฐานะ VR Partner ด้วย

โซน Festival นั้น จะมีการแสดงงานดนตรี ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เชิงดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกิจกรรม “กระทบไหล่ Celeb.” ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับทีมงาน Cosplay “Spiral Cats” รวมถึงชมการแสดงคอนเสิร์ตของดีเจชื่อดังอย่าง Steve Aoki นอกจากนั้นแล้ว ภายในโซนนี้ ยังมีกิจกรรม TED Talks ซึ่งจะมีการพูดถึงเรื่องของการพัฒนาอีสปอร์ต และทิศทาง ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต

ปลายปี 2560 เข้าสู่ต้นปี 2561 ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของวงการอีสปอร์ตไทย เมื่อรัฐบาลมอง "อีสปอร์ต" เป็นกีฬา ยินยอมให้มีการจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยขึ้น แถมยังเล็งเห็นโอกาสหลายอย่างจากการจัดงานเฟสติวัลแข่งเวิลด์ไซเบอร์เกมที่อิมแพคอารีนา เชื่อว่า 2 ปัจจัยข้างต้นจะเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้วงการกีฬาอีสปอร์ตไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด และในอนาคตอันใกล้เราน่าจะได้เห็นนักกีฬาอีสปอร์ตจากประเทศไทยไปสร้างชื่อเสียงในเวทีโลกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น