บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติดัตช์ ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายราย ส่งคำร้องต่อศาลฟ้องร้องบริษัทเกมชื่อดังแดนปลาดิบ ในข้อหาละเมิดนำระบบบังคับควบคุมด้วยร่างกายไปใช้กับทุกเครื่องเล่นที่มีคำนำหน้าว่า "Wii"
ตัวแทนฟิลิปส์ ออกมาคอนเฟิร์มปัจจุบันทางบริษัทได้ยื่นส่งคำร้องต่อศาลประจำรัฐเดลาแวร์ในสหรัฐฯ โดยกล่าวหาบริษัทนินเทนโดว่าได้ทำการละเมิดสิทธิบัตรฉบับเลขที่ 379 ของตน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับตัวเทคโนโลยีอุปกรณ์ควบคุมด้วยร่างกายเสมือนจริง (Virtual Body Control Device) ฐานนำมันไปใช้กับอุปกรณ์เล่นเกมทั้งเครื่องวี, วีรีโมต, วีรีโมตพลัส, วีนันชัค, วีโมชั่นพลัส, วีบาลานซ์บอร์ด, เครื่องวียู, วียูเกมแพด และล่าสุดกับเครื่องวีมินิ
โดยในเอกสารฟ้องร้อง ทางฟิลิปส์ ได้ชี้แจงอ้างว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปี 2011 ทางบริษัท ได้ทำการส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังบริษัทนินเทนโดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องที่ทางนินเทนโดได้ละเมิดสิทธิบัตรของตนมาแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นทางนินเทนโดได้มีการตระหนักไตร่ตรองถึงเรื่องดังกล่าว แต่สุดท้ายกลับตัดสินใจทำเป็นเพิกเฉยและจงใจแกล้งทำเป็นไม่รับรู้ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่าได้ละเมิดสิทธิบัตรฉบับที่ 379 จริง
ซึ่งนอกเหนือจากสิทธิบัตรฉบับที่ 379 แล้ว ทางฟิลิปส์ ยังได้ฟ้องร้องนินเทนโดอีกหนึ่งข้อหา โดยคราวนี้เป็นการละเมิดสิทธิบัตรฉบับเลขที่ 231 ในเรื่องของระบบส่วนประสานงานผู้ใช้บนพื้นฐานอุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (User Interface System Based on Pointing Device) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในตัวคอนโทรลเลอร์ของเครื่องวีมานานกว่า 8 ปี
"เราได้ส่งเรื่องฟ้องนินเทนโดต่อศาลในอเมริกาถึงการละเมิดสิทธิบัตร 2 ฉบับด้วยกันที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีโมชั่นคอนโทรล เนื่องจากทางฟิลิปส์ เป็นเจ้าของสิทธิบัตรหลายชิ้นที่ครอบคลุมเรื่องระบบจับการเคลื่อนไหวและการควบคุมด้วยพอยท์เตอร์ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถผลิตอุปกรณ์ต่างๆได้ทั้งรีโมตคอนโทรล, ชุดทีวี, เครื่องเล่นเกมคอนโซล และอุปกรณ์เซตท็อปบ็อกซ์ ซึ่งในอดีตเราได้มีการติดต่อไปยังนินเทนโดหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ข้อสรุปตกลงในเรื่องลิขสิทธิ์กลับมา จึงเป็นเหตุให้ทางฟิลิปส์ไม่มีทางเลือกนอกจากดำเนินตามขั้นตอนทางกฏหมายเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของเรา" ตัวแทนฟิลิปส์ กล่าว
และสืบเนื่องจากการที่นินเทนโดมีความจงใจละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าว ทางฟิลิปส์ จึงได้เรียกร้องเงินค่าเสียหายเป็นจำนวนสามเท่าจากกรณีที่นินเทนโดยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตรในสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง แถมยังสั่งห้ามไม่ให้นินเทนโดทำการผลิต ใช้ จำหน่าย เสนอโปรโมชั่น หรือนำเข้าสินค้าตระกูลวีทั้งหลายในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ซึ่งผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องรอติดตามกันต่อไป
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
ign
joystiq
scribd
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*