xs
xsm
sm
md
lg

Mecha Monkey ชนะการประกวด GGDP ซีซั่น 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลงานเกมฝีมือเยาวชนไทย Mecha Monkey ชนะเลิศการประกวดพัฒนาเกม Good Game Developer Projects 2013 ผู้จัดงานเผยปีนี้มีสตูดิโอเกมมาเป็นที่ปรึกษาให้ผู้เข้าประกวด ผลงานจึงมีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนปีหน้ามีแนวคิดที่จะชวนหน่วยงานภาครัฐร่วมจัดให้ใหญ่กว่าเดิม

วานนี้ (8 ก.พ.) บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด ได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดการประกวดพัฒนาเกม Good Game Developer Projects 2013 รอบตัดสิน ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9

บรรยากาศภายในงานตลอดช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลงานของผู้เข้ารอบตัดสินทั้งหมด 6 ทีม ซึ่งแต่ละทีมจะอธิบายวิธีการเล่น แนวคิดทางการตลาดและการสร้างรายได้หากตัวเกมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ให้คะแนนตัดสินพร้อมกับวิจารณ์ผลงานของแต่ละทีม

เมื่อการนำเสนอผลงานของทั้ง 6 ทีมเสร็จสิ้นในช่วงเย็น คณะกรรมการได้ทำการลงคะแนนตัดสิน ผลปรากฏว่า ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ทีม NGD เจ้าของผลงานเกม Mecha Monkey ที่มีเนื้อหาเกมเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ลิงจากด้านบนของฉาก ลงไปสู่ด้านล่างของฉาก โดยจะมีกับดักหลากหลายรูปแบบให้ผู้เล่นใช้งาน

สมาชิกภายในทีม NGD มีทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย นายเวทิศ จริงจิตร , นายวรวิช โกศลกิติวงศ์ , นายนพปฏล วิสุทธิกุล , นายสันติ มาอุ่น โดยมีบริษัท แอดวานซ์ อินเทลลิเจนซ์ โมเดิร์นนิตี้ จำกัด รับหน้าที่เป็นสตูดิโอเกมที่ปรึกษา

ด้านรางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานเกม Moe Magica Battle เกมแนวพัซเซิลเรียงเพชรที่เน้นภาพลักษณ์ตัวละครน่ารักสไตล์โมเอะจากทีม 4DBox สมาชิกในทีมมี 3 คน ประกอบด้วย นายธนัท พานิชโยทัย , นางสาววรรณรวี วรรธนอมรกุล , นายธนาคาร ล้อเลิศสกุล โดยมีบริษัท อาคาวิส สยาม จำกัด รับหน้าที่เป็นสตูดิโอเกมที่ปรึกษา

อีกหนึ่งผลงานเกมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เกม Sugar Pow ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตามจับมนุษย์ต่างดาวที่มาขโมยขนมในเมือง แต่ผู้เล่นจะไม่สามารถควบคุมตัวละครหลักได้โดยตรง ต้องใช้วิธีดัดแปลงเส้นทางเพื่อจำกัดทางเดินตัวละครให้ไปถึงเป้าหมาย เกมนี้เป็นผลงานของทีม Square Force มีสมาชิกจำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายปัญญ์ ปัญญาสุข , นายธนพล รัตนพิเชฐกุล , นางสาวนฤมล ทับขันต์ , นางสาวปุณิกา อมรวาที , นางสาวณิชา รุ่งโรจน์สารทิศ , นางสาวณัฐวรา แช่แต้ มีบริษัท พิกซ์ เกมส์ จำกัด เป็นสตูดิโอเกมที่ปรึกษา

นายมานะ ประภากมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การประกวดในปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่แล้วตรงที่มีสตูดิโอพัฒนาเกมมาคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับแต่ละทีม ทำให้ผลงานของแต่ละทีมในปีนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

"ในการประกวดปีที่แล้ว น้องที่เข้าประกวดจะมีคำถามในระหว่างการทำเกมเยอะมาก เพราะน้องที่เข้าประกวดหลายคนยังเป็นหน้าใหม่ ไม่มีประสบการณ์ในการทำเกม ซึ่งในบางครั้งเราเองก็อาจจะไม่มีคำตอบที่เหมาะสมให้กับน้องๆ จึงเกิดแนวคิดที่จะชวนสตูดิโอพัฒนาเกมมาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าประกวดปีนี้" นายมานะ กล่าว

นายมานะ ระบุอีกว่า สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดก็จะมีสิทธิ์ได้ร่วมงานกับ ทรู ดิจิตอล พลัส โดยทางทรูจะเสนอตัวในการเป็นผู้ให้บริการเกมของเกมนั้นๆ ในกรณีที่ผู้ชนะการประกวดอยากจะต่อยอดเกมที่ทำขึ้นมาเพื่อให้บริการจริงในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ต้องดูความพร้อมของผู้เข้าประกวดด้วยเช่นกัน

"ในปีที่แล้วมีน้องๆ 2 ทีมที่อยากจะทำเกมต่อให้สมบูรณ์เพื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เราก็ให้การสนับสนุน ตอนนี้ผลงานก็ใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้ น่าจะเปิดให้บริการได้" นายมานะ กล่าว

ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร เกษมสันต์ คณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ผู้เข้าร่วมการประกวดในปีนี้มีจำนวนมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้เริ่มเป็นที่รับรู้ของผู้คนมากขึ้น ซึ่งเดิมทีคนที่อยู่ในวงการเกมก็มักจะติดตามงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว พอโครงการนี้เริ่มที่จะเป็นงานประจำปีที่จัดต่อเนื่อง ก็ทำให้มีคนที่เฝ้ารอเข้าร่วมประกวดมากกว่าเดิม ในภาพรวมถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีผลงานให้คณะกรรมการได้คัดเลือกมากขึ้น แถมปีนี้มีสตูดิโอเกมมาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าประกวด

"เราเป็นสถาบันการศึกษา เราสามารถให้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนาเกมได้ แต่เมื่อคุณเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมเกมของจริง มันจะมีองค์ความรู้บางอย่างที่คุณต้องหาเอาจากประสบการณ์ในการทำงานจริง การที่มีสตูดิโอเกมมาเป็นที่ปรึกษาคอยชี้แนะน้องๆ ที่เข้าประกวดจึงนับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก" ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร กล่าว

ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาเกมมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ในช่วงแรกถือว่าค่อนข้างมีอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากผู้ปกครองยังไม่เข้าใจว่าเรียนจบแล้วจะไปทำงานอะไร ในยุคนั้นตลาดแรงงานด้านเกมในไทยยังไม่ค่อยชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจเกมในไทยก็มีการพัฒนาไปมาก หลายฝ่ายเริ่มให้การสนับสนุน ยิ่งมีการจัดงานอีเวนท์ประกวดพัฒนาเกมลักษณะนี้ ก็ช่วยทำให้สังคมได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าเกมนั้นมันไม่ได้มีแค่การเล่นเกมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต มีการสร้างงาน สร้างรายได้

สำหรับการจัดประกวดในปีหน้า ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร ระบุว่า มีแนวคิดที่จะจัดในขนาดที่ใหญ่ขึ้น โดยอาจจะมีการชักชวนหน่วยงานภาครัฐมาจัดร่วมกัน เพราะทุกวันนี้หน่วยงานภาครัฐเองก็มีการจัดประกวดลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่เป็นลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันจัด หากมีการรวมทุกงานมาจัดเป็นงานเดียวก็น่าจะสร้างความตื่นตัวให้กับวงการเกมได้ ซึ่งนายมานะเองก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

"ผมก็เคยคุยกับอาจารย์ว่าถ้าต่างคนต่างจัด งานก็ออกมาได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเอา 3 งานมารวมกันเป็นอีเวนท์ใหญ่ คงจะช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับวงการเกมได้ น่าจะเป็นเรื่องดี ตรงนี้อาจจะมองไกลถึงการที่ไทยเราจะเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของครีเอทีฟอีโคโนมี่นับว่าสำคัญมาก แล้วเกมนี่ก็นับว่าเป็นจิ๊กซอสำคัญของครีเอทีฟอีโคโนมี่ เกมเป็นทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ การทำเกมต้องใช้องค์ความรู้หลายแขนง การที่อุตสาหกรรมเกมโตจะช่วยให้อุตสาหกรรมรอบด้านที่เกี่ยวข้องโตขึ้นตามไปด้วย แล้วเกมที่ประสบความสำเร็จก็นำไปต่อยอดอย่างอื่นได้" นายมานะ กล่าวเสริม



กำลังโหลดความคิดเห็น