xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเหตุการณ์น่าสนใจในวงการเกมปี 2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปี 2556 เป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญของวงการเกม เนื่องจากมีการเปิดตัวเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่อย่างเพลย์สเตชัน4 และ Xbox One จนมีผลสั่นสะเทือนต่อบริษัทเกมเก่าแก่อย่างนินเทนโด รวมถึงกระแสอื่นๆในวงการเกมที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบริษัทเกม

-เปิดศึกคอนโซล "PS4" VS "Xbox One"

อุตสาหกรรมเกมในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สองผู้ผลิตเครื่องคอนโซลพลังสูงอย่างโซนี่ และไมโครซอฟต์ แข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่องและดุเดือด ฝั่งโซนี่ผลิตเครื่องเกมในตระกูลเพลย์สเตชันออกมา ส่วนไมโครซอฟต์ผลิตเครื่องเกมในตระกูล Xbox

ย้อนกลับไปในปี 2000 โซนี่ส่งเครื่องเพลย์สเตชัน2 ลงสู่ตลาด จากนั้นเพียงปีเดียวไมโครซอฟต์ก็ส่งเครื่อง Xbox ออกมาช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดเกมคอนโซล เครื่องเพลย์สเตชัน2 อยู่ในตลาดนานถึง 6 ปี โซนี่ก็ส่งเครื่องรุ่นใหม่ "เพลย์สเตชัน3" ลงสู่ตลาดในปี 2006 เพื่อออกมาแข่งขันกับ Xbox360 เครื่องคอนโซลรุ่นใหม่จากไมโครซอฟต์ที่ออกวางจำหน่ายก่อนเกือบ 1 ปีเต็มในปี 2005 และล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนศึกคอนโซลรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อ เพลย์สเตชัน4 และ Xbox One เครื่องเกมรุ่นใหม่จากสองค่ายออกวางจำหน่าย

"เพลย์สเตชัน4" ออกวางจำหน่ายที่อเมริกาในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2013 ด้วยราคา 399 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 บาท ต่อด้วยการวางจำหน่ายที่ยุโรป และออสเตรเลียในวันที่ 29 พฤศจิกายน ด้านญี่ปุ่นจะออกวางจำหน่ายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 2014 ส่วน "Xbox One" ออกวางจำหน่ายที่อเมริกา , ยุโรป และออสเตรเลีย ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 2013 ด้วยราคา 499 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16,500 บาท

PS4 วางจำหน่ายก่อน Xbox One ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยที่ PS4 มีราคาขายที่ถูกกว่า Xbox One ถึง 100 เหรียญสหรัฐ แต่ต้องจำไว้ว่าเครื่องคอนโซลของไมโครซอฟต์แพงกว่าก็จริงแต่ทุกแพคเกจเครื่องจะมีกล้อง Kinect2.0 สำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวมาให้ด้วย ขณะที่ PS4 ต้องเสียเงินซื้อกล้องแยกต่างหาก

ภายในกล่องเพลย์สเตชัน 4 จะประกอบด้วยตัวเครื่องเพลย์สเตชัน 4 , จอยดูอัลช็อก4 จำนวน 1 ตัว , ชุดหูฟัง 1 ตัว , สายไฟ , สาย HDMI และ สาย USB ชาร์จจอย PS4 ส่วนภายในกล่อง Xbox One จะมีเครื่องเกมคอนโซล , จอยคอนโทรลเลอร์ 1 ตัว , USB3.0 จำนวน 3 พอร์ต , ช่อง HDMI in และ out , ไวเลสเน็ตเวิร์ค 802.11n รวมถึงสายหม้อแปลง ซึ่งแตกต่างกับเพลย์สเตชัน4 ที่มีพาวเวอร์ซัพพลายอยู่ในเครื่อง

ในส่วนของสเปกเครื่องเพลย์สเตชัน 4 จะมีซีพียู x86-64 AMD “Jaguar”, 8 คอร์ การ์ดจอ 1.84 TFLOPS, AMD next-generation Radeon ความจุแรม 8 กิ๊กกะไบต์ ด้าน Xbox One จะใช้ซีพียู 64-bit AMD Jaguar , แรมขนาด 8 กิ๊กกะไบต์ และกราฟิกการ์ด AMD Radeon 768 คอร์

การจะซื้อเครื่องเกมสักเครื่องอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือซอฟต์แวร์เกม เครื่องเพลย์สเตชัน4 ออกวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนพร้อมกับ 22 เกม ได้แก่ Flower , Killzone Shadow Fall , Knack , Resogun , Sound Shapes , Angry Birds Star Wars , Assassin's Creed IV: Black Flag , Call of Duty: Ghosts , FIFA 14 , Battlefield 4 , Just Dance 2014 , Injustice: Gods Among Us Ultimate Edition , Lego Marvel Super Heroes , Madden NFL 25 , NBA 2K14 , Contrast , Pinball Arcade , DC Universe Online , Skylanders SWAP Force ,Super Motherload ,Tiny Brains และ Warframe ด้าน Xbox One จะมีเกมออกพร้อมเครื่อง 23 เกมได้แก่ Watch Dogs , Zoo Tycoon ,Zumba Fitness: World Party , Assassin's Creed IV Black Flag , Battlefield 4, Call of Duty: Ghosts , Crimson Dragon , Dead Rising 3 , FIFA 14 , Fighter Within , Forza Motorsport 5 , Just Dance 2014 , Killer Instinct , Lego Marvel Super Heroes , Lococycle , Madden NFL 25 , NBA 2K14 , NBA LIVE 14 , Need for Speed: Rivals , Peggle 2 , Powerstar Golf , Ryse: Son of Rome และ Skylanders: Swap Force

ด้านยอดขายยังไม่มีความชัดเจนมากนัก หลังจากที่เพลย์สเตชัน4 เปิดวางจำหน่ายได้ 24 ชั่วโมง โซนี่ก็ออกมาประกาศว่าเครื่องคอนโซลของตัวเองทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเครื่อง ซึ่งไมโครซอฟต์ก็ทำเช่นเดียวกันหลัง Xbox One วางจำหน่ายได้ 24 ชั่วโมงก็ออกมาประกาศว่าทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเครื่อง ช่วงกลางเดือนธันวาคมปี 2013 ทั้งสองเครื่องวางจำหน่ายได้ครบ 1 เดือนก็มีการออกมาประกาศว่าทำยอดขายรวมตั้งแต่เปิดจำหน่ายได้มากกว่า 2 ล้านเครื่อง งานนี้คงต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะรู้ว่าเครื่องไหนจะทำผลงานได้ดีกว่ากัน

ปัจจุบันราคาเครื่องเพลย์สเตชัน4 ขายตามร้านค้าปลีกในไทยอยู่ที่ประมาณ 19,000 บาท ส่วน Xbox One ขายอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท สำหรับในบ้านเราเครื่องเพลย์สเตชัน4 ดูจะมีภาษีกว่าเนื่องจาก เกมเมอร์ชาวไทยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของเครื่องเพลย์สเตชันมาตั้งแต่รุ่นแรกมาจนถึงเพลย์สเตชัน2 และเพลย์สเตชัน3 รวมถึงเป็นแฟนของเกมดังๆที่เป็นเอกซคลูซีฟกับเพลย์สเตชัน ทำให้น่าจะตัดสินใจง่ายกว่าในการเป็นเจ้าของเพลย์สเตชัน4 อย่างไรก็ตามจุดเด่นของเครื่อง Xbox One ที่ไมโครซอฟต์ชูเอาไว้ก็คือการใช้เครื่องเป็นฮับศูนย์กลางความบันเทิงในบ้าน ที่ผู้ใช้จะสามารถตื่นเต้นได้จากการควบคุมสั่งงานโดยใช้เสียง รวมถึงการขยับท่าทางร่างกายในการควบคุมเครื่อง อีกหนึ่งปัจจัยวัดความสำเร็จของเครื่องเกมที่สำคัญมากๆก็คือซอฟต์แวร์เกม ก็ต้องดูกันว่าเครื่องเกมใดจะดึงเกมเอกซ์คลูซีฟดีๆมาอยู่กับตัวเองได้ แต่กระนั้นยุคปัจจุบันเกมเอกซ์คลูซีฟเริ่มน้อยลง เมื่อผู้พัฒนาเกมหันมาทำเกมมัลติแพลตฟอร์มลงให้กับหลายแพลตฟอร์ม งานนี้ต้องดูกันไปอีกหลายปีว่าใครจะอยู่ใครจะไป

-นินเทนโดเสือลำบากยังไว้ลาย

ท่ามกลางการแลกหมัดกันของสองยักษ์ใหญ่อย่างโซนีและไมโครซอฟท์ในตลาดคอนโซล อีกหนึ่งยักษ์ในวงการคือนินเทนโดก็ถูกสื่อหลายสำนักมองว่าต้องยกธงขาวไปเป็นรายแรก แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทเก่าแก่รายนี้ก็ยังอยู่รอดได้และเดินตามหนทางของตนเองต่อโดยไม่สนใจมากนักว่าโลกเขาจะไปทางใดกัน

เครื่องคอนโซล Wii U ของนินเทนโดเปิดขายในช่วงปลายปี 2012 มาพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพเครื่องที่ไม่ค่อยห่างจาก Xbox 360 และเพลย์สเตชัน 3 มากนัก เช่นเดียวกับลูกเล่นจอยเกมแพ็ดที่ไม่ดังเปรี้ยงเหมือนครั้งจอยรีโมตบน Wii เดิม ส่งผลกระทบให้ยอดขายขยับไปอย่างเชื่องช้าจนค่ายเกมภายนอกหลายรายไม่สนใจจะเอาผลงานมาลงให้ ขณะที่ทางนินเทนโดเองก็ปรับตัวเข้ากับการผลิตเกมระดับ HD ได้ไม่ค่อยทัน

อีกด้านหนึ่ง นินเทนโดก็ยังมียุทธศาสตร์ "เสาสองต้น" พัฒนาเครื่องเกมพกพาควบคู่ไปกับคอนโซลจนเป็นตัวช่วยในสถานการณ์นี้ โดยเครื่อง 3DS สามารถยึดพื้นที่ฝั่งญี่ปุ่นไว้ได้แบบเบ็ดเสร็จทำยอดขายฮาร์ดแวร์เกินกว่าครึ่งของทั้งตลาดรวมกันพร้อมเกมดังยอดขายหลักล้านอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนตลาดต่างประเทศก็ยังไปได้เรื่อยๆแม้จะไม่ถึงขั้นแรงทะลุชาร์ตแบบที่รุ่นพี่ DS เดิมเคยทำไว้

เมื่อนำมาหักล้างกัน รายงานผลประกอบการของนินเทนโดก็ยังอยู่ในระดับคาบเส้นไม่ค่อยดีนัก มีตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่ด้วยอิทธิพลจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินก็ทำให้ผลรวมของพวกเขาพลิกขึ้นมาติดตัวดำได้เล็กน้อย ไม่ถึงขั้นวิกฤตอันตรายจนต้องรีบเปลี่ยนวิถีทางของตนเองในอนาคตอันใกล้

แม้แหล่งทำเงินหลักอย่างเครื่องพกพาจะโดนบรรดาเกมบนโทรศัพท์มือถือเข้ามาแย่งตลาด ส่วนคอนโซลตามบ้านก็ยังมองไม่เห็นทางออกที่ปลายอุโมงค์ แต่ก็อาจพูดได้ว่านินเทนโดเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์เคยเจอภาวะถดถอยมาแล้วจากคอนโซลหลายเครื่องในอดีตและมักจะหาทางออกเอาตัวรอดอยู่ในวงการได้เสมอ ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์อะไรใหม่ที่พวกเขาเตรียมไว้เพื่อ "พลิกเกม" ในครั้งนี้

-ประชานิยมเกมไร้พรมแดน ยุคผู้บริโภคเป็นใหญ่

การแพร่ขยายอย่างขีดสุดของสังคมอินเตอร์เน็ต ได้นำพาผู้ผลิตและผู้บริโภคมาใกล้ชิดกันในระยะที่สามารถเสนอความคิดเห็น แสดงความต้องการ ด่าทอหรือควักเงินให้ได้แบบถึงตัวตรงไปตรงมา ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่มีความชัดเจนมากขึ้นในวงการเกมปี 2013

เครื่องเกม Xbox One ของไมโครซอฟท์เริ่มต้นจากการมีข่าวเกี่ยวการ "บังคับต่อออนไลน์ตลอดเวลา" รั่วมาทุกทิศทาง จนสุดท้ายก็ไม่พลิกโผเปิดตัวยืนยันว่าระบบของเครื่องจะเป็นเช่นนี้ในตอนวางขายจริง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากแสดงท่าทีประท้วงและชิ่งกระทบไปถึงคู่แข่งอย่างเครื่องเพลย์สเตชัน 4 ถูกแฟนๆจำนวนมากกดดันว่าอย่าทำระบบแบบนี้ออกมาอีกรายเป็นอันขาด

แม้ไมโครซอฟท์จะแสดงท่าทีแข็งขันอยู่หลายครั้ง แต่หลังจากกระแสในงาน E3 ทางค่ายก็ไม่สามารถไปสุดซอยได้อีกต้องยอมถอยเอาระบบการบังคับออนไลน์ออก เป็นการประกาศชัยชนะครั้งใหญ่ของผู้บริโภค ขณะที่ค่ายโซนีก็พลิกวิกฤติของคู่แข่งมาใช้เป็นโอกาสของตนเอง ทำตามประชามติไม่บังคับออนไลน์ตั้งแต่ต้นช่วยส่งเสริมกระแสการตลาดจนฮิตติดลมบน

ในอีกด้าน บรรดาเกมลงโทรศัพท์มือถือก็เป็นอีกช่องทางที่ถือแนวทางผู้บริโภคเป็นใหญ่ เกิดการกดมูลค่าราคาเกมต่างๆจนจมดินไม่ว่าจะหนึ่งร้อยบาท หกสิบบาทหรือถอยมาถึงสามสิบบาทก็ยังมีคนบ่นว่า "แพงไป" กลายสภาพเป็นการไล่แจกให้เล่นฟรีมีเกียรติประชานิยมทั่วหน้า จนแม้แต่เครื่องเกมใหญ่ๆยังต้องหันมาปรับตัวทดลองธุรกิจแนวนี้กับเขาด้วย

สิ่งที่มาพร้อมเกมฟรีเหล่านี้คือธุรกิจขายของในเกมเป็นเงินจริงเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เมื่อลูกค้าอยากชนะก็ต้องชนะทันทีขอแค่มีเงินพร้อมจ่าย เช่นเดียวกับระบบการเล่นที่แทบไม่เน้นความซับซ้อนอะไรมาก เปลี่ยนจากยุคที่เกมขายอุปสรรคความท้าทาย ให้คนซื้อไปอดทนฝ่าฟันลำบากเพื่อความพึงพอใจในตอนที่ทำสำเร็จ กลายเป็นการหลอกล่อแจกแบบไม่คิดเงินก่อน แล้วเอาทางลัดสู่ความสำเร็จมาวางขายกันดื้อๆโดยที่คนเล่นไม่ต้องขวนขวายลำบากอีก

สิ่งสุดท้ายที่มาพร้อมยุคประชานิยมวงการเกมปีนี้คือการ "ระดมทุน" หรือ "KickStarter" ที่กำลังนิยมอยู่ในเมืองนอก เมื่อเหล่านักพัฒนาพากันเปิดหมวกขอรับบริจาคเงินไปสร้างเกมโดยใช้ชื่อเสียงของตนเองหรือชื่อชั้นเกมดังๆในอดีตเป็นจุดขาย เปลี่ยนร่างผู้บริโภคให้กลายเป็นนายทุนมีสิทธิ์เลือกเองตามใจว่าอยากเล่นอะไรแบบไหน แถมยังเป็นการหยั่งเสียงความนิยมทำตลาดแบบบอกต่อ แทนที่จะยอมควักเนื้อทั้งหมดแล้วเสี่ยงต่อการขายไม่ได้ในภายหลัง

โครงการที่ประกาศในช่วง 1-2 ปีนี้ยังคงมีน้อยรายที่สามารถเข็นผลงานออกมาให้เห็นได้จริงเนื่องจากวงจรการพัฒนาเกมต้องใช้เวลานานเป็นเรื่องปกติ โดยในอนาคอันใกล้คุณภาพผลงานที่ออกหรือไม่ได้ออกเพราะล่มไปเสียก่อนก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าแนวทาง "การระดมทุน" จะได้ไปต่อหรือไม่ เพราะถ้าผู้บริโภคช่วยพยุงเรือได้ก็สามารถล่มมันลงได้เช่นกัน

*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*
กำลังโหลดความคิดเห็น