xs
xsm
sm
md
lg

Gaming is learning: โนแลน บุชเนล ผู้ให้กำเนิดอาตาริ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘Everyone who has ever taken a shower has had an idea – it’s the person who gets out of the shower, dries off, and does something about it that makes a difference’อ่านประโยคข้างบนแล้วเชื่อว่าหลายคนพยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของประโยคนั้นก็คือ "โนแลน บุชเนล"ผู้ก่อตั้งกำเนิด "อาตาริ" ย้ำต่อว่า คนที่มีไอเดียดีๆ ต้องลงมือทำทันทีโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะ ‘ผู้ประกอบการตัวจริงคือนักลงมือทำ ไม่ใช่คนช่างฝัน’

แต่ถ้ามองไปที่ตัวคนพูด บอกได้เลยว่าเขาเป็นทั้งนักลงมือทำและเป็นคนช่างฝันไปในตัว คนไม่รู้จักฝันที่ไหนจะคิดโน่นทำนี่แบบไม่ตีกรอบให้ตัวเองได้ จนใครต่อใครยกย่องให้มีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศ ไม่ว่าจะในแวดวงวีดิโอเกม เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงรางวัลร้านอาหารที่ริเริ่มสร้างสรรค์ที่สุดแห่งปี

ด้วยคุณูปการที่เขามีต่อวงการวีดิโอเกมจนได้รับเลือกจากนิตยสาร Newsweek ให้เป็น 1 ใน 50 ชายผู้เปลี่ยนแปลงอเมริกา ล่าสุดผู้สร้างหนังเตรียมหยิบชีวิตเขามาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มกันแล้ว โดยมีลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) รับบทเป็นบุชเนล

Curious Nolan
โนแลน บุชเนล (Nolan Bushnell) สนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมาตั้งแต่เล็ก และคลั่งไคล้การประดิษฐ์คิดค้นมาตั้งแต่สมัยครูสั่งให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตอนป.3 วันที่เขาลืมตาดูโลกในรัฐยูทาห์ สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1943 ชีวิตของเขาพลิกผันตอนอายุได้ 15 ปี เมื่อพ่อเสียชีวิต บุชเนลจัดการดูแลลูกค้าที่ตกค้างอยู่ของบริษัทซีเมนต์ของพ่อได้เสร็จเรียบร้อยก่อนโรงเรียนเปิด ระหว่างที่เรียนเขาทำงานภาคค่ำไปด้วย และที่สำคัญคือต้องเป็นงานที่สนุก บุชเนลได้ทุกอย่างสมใจกับงานซ่อมบำรุงตู้เกมพินบอลในสวนสนุก ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เรื่องกลไกไฟฟ้าและได้สัมผัสกับเสน่ห์ของเครื่องเล่นที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสนุกไปกับมัน

หลังถูกเลื่อนขั้นให้เป็นผู้จัดการแผนกตู้เกม งานภาคค่ำกลายเป็นหลักสูตร MBA ที่บุชเนลซึมซับโดยไม่รู้ตัว ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ University of Utah คือพื้นฐานคอมพิวเตอร์กราฟิกและโปรแกรมมิ่ง ที่สำคัญที่สุดคือได้เล่นเกม Spacewar เกมคอมพิวเตอร์เกมแรกของโลกที่เหล่านักศึกษานิยมกันถ้วนทั่ว

ตอนกลางวันเขาได้เห็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อว่าน่าจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนต่อไปในอนาคต ตอนค่ำเขาได้เห็นความสนุกสนานจากเกมตู้ที่ทำให้คนช่างลุ้นยอมหยอดเหรียญจ่ายเงินเพื่อเล่นเกม บุชเนลเชื่อว่ามันต้องสุดยอดแน่ๆ ถ้าผสมทั้งหมดรวมกันได้

ความฝันของเขาคือการได้เข้าทำงานกับยักษ์ใหญ่ด้านความบันเทิงเพื่อครอบครัวอย่างดิสนีย์ แต่เมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับหลังส่งใบสมัครไป เขาเลยเข้าทำงานกับบริษัทผู้คิดค้นวีดิโอเทปชื่อ Ampex เมื่อเรียนจบในปี 1970 ที่ Ampex เขาพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ชื่อเท็ด แด็บนีย์ (Ted Dabney) แด็บนีย์เอาด้วยกับไอเดียการสร้างเกมแบบ Spacewar ให้อยู่ในรูปแบบเกมหยอดเหรียญและตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับบุชเนล ซึ่งจัดแจงยึดห้องนอนลูกสาวเป็นห้องปฏิบัติการพัฒนาเกม

Pong – the Classic

แด็บนีย์และบุชเนลลาออกจากงานเพื่อพัฒนาเกมอย่างจริงจัง และขายโครงการให้กับผู้ผลิตเกมตู้ Mutting Associates บุชเนลนั่งเก้าอี้วิศวกรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาและปรับปรุงเกมที่เขาเป็นต้นคิด จน Nutting ผลิตเกมออกมา 1,500 ตู้ ภายใต้ชื่อ Computer Space เทคโนโลยีที่บุชเนลใช้ในการสร้างเกมนี้เป็นเทคโนโลยีที่กลายเป็นต้นแบบของการทำเกมตู้รุ่นต่อมาก่อนที่ไมโครโปรเซสเซอร์จะเข้ามามีบทบาท ส่วนเรื่องความสนุกสนานนั้นเป็นที่ร่ำลือว่า หนุ่มๆ วิศวะคลั่งไคล้กันจนถึงกับปักหลักเล่นเกมข้ามคืนที่สนามหลังบ้าน

ตู้เกมไปได้ไม่สวยเท่าไหร่ บุชเนลโทษว่าเป็นเพราะบริษัทไม่โปรโมต นอกจากนี้ตัวเกมยังค่อนข้างซับซ้อน เขาได้รับแรงบันดาลใจใหม่ว่าจะทำเกมง่ายๆ ที่ใครๆ ก็เล่นได้โดยไม่ต้องอ่านคู่มือ ไอเดียนี้เข้าท่าสำหรับ Nutting แต่ติดตรงที่ว่าบุชเนลขอส่วนแบ่งจากการพัฒนาเกมใหม่ถึง 1/3 แต่บริษัทเสนอให้แค่ 5% แถมเรียกร้องให้เขาอยู่ในฐานะวิศวกร คนที่มองอะไรใหญ่ๆ อย่างบุชเนลเลยปฏิเสธไป แล้วลาออกมาลงขันตั้งบริษัทใหม่กับแด็บนีย์ด้วยเงินคนละ 250 ดอลลาร์เท่านั้น

สองคนแบ่งงานกันทำ โดยบุชเนลควบคุมการพัฒนาเกม ส่วนแด็บนีย์หาเงินทุนเข้าบริษัทด้วยการให้บริการซ่อมตู้เกมพินบอล บุชเนลได้ลูกมือชั้นดีอย่างอัล อัลคอร์น (Al Alcorn) วิศวกรหนุ่มจบใหม่ ซึ่งเขาให้การบ้านไปว่าอยากได้เกมเล่นง่ายๆ ที่ประกอบไปด้วยลูกบอล แท่น และคะแนน จริงๆ เขาแค่อยากให้อัลคอร์นฝึกฝีมือ โดยหยอดแรงกดดันเพิ่มไปนิดด้วยการโกหกว่าไปเซ็นสัญญากับลูกค้าไว้แล้ว แต่หนุ่มน้อยกลับทำได้จริงๆ ภายในเวลาสิบวันเขากลับมาพร้อมไอเดียเกมปิงปอง รวมระยะเวลาที่ช่วยกันปรับปรุงให้ใช้งานได้จริง เพียง 3 เดือนเกมคอมพิวเตอร์ที่เป็นตำนานชื่อ "Pong"

ตอนแรกบุชเนลและแด็บนีย์ตั้งชื่อบริษัทไว้ว่า Syzygy แต่เมื่อพบว่ามีบริษัทอื่นใช้ชื่อนี้ไปแล้วบุชเนลเลยเลือกคำว่า Atari หรือ ‘รุกฆาต’ ตามภาษาหมากล้อม ซึ่งเป็นเกมที่เขาชอบสุดๆ เป็นชื่อบริษัทแทน น่าเสียดายที่แด็บนีย์ไม่รู้ว่าเกมใหม่จะโด่งดังขนาดไหน เขาคิดว่าธุรกิจนี้ความเสี่ยงสูงเกินไป และขายหุ้นให้บุชเนลทั้งหมดในเวลาต่อมา โดยแยกไปให้บริการซ่อมตู้เกมอย่างเดียว

เกมตู้ Pong เปิดตัวครั้งแรกที่บาร์แห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ในค่ำคืนหนึ่งของปี 1971 เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเมื่อนึกว่าผู้เล่นจะรู้สึกยังไงกับการควบคุมแท่นซึ่งเป็นที่ตกกระทบของลูก (เสมือนเป็นไม้ปิงปอง) บนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยด้ามจับสองอันที่ตู้ บุชเนลกับอัลคอร์นไม่ต้องสงสัยกันนาน แค่วันเดียวเจ้าของบาร์ก็โทรมาต่อว่าที่บริษัทบอกว่าเครื่องมีปัญหา ...เป็นปัญหาที่นำมาซึ่งความโล่งใจ คือปัญหาเหรียญเต็ม!

Game on TV
ความสำเร็จของปองทำให้มีเกมก๊อบปี้สไตล์เดียวกันผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด การแข่งขันในตลาดเกมตู้เริ่มดุเดือดขึ้นจนบริษัทเล็กๆ อย่างอาตาริตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเงิน โชคดีที่บริษัทมีวิศวกรหัวใสอย่างบ๊อบ บราวน์ (Bob Brown) กับฮาโรลด์ ลี (Harold Lee) และที่ขาดไม่ได้คือบุชเนล ผู้สนับสนุนคนสำคัญ เมื่อบราวน์กับลีเสนอให้เชื่อมต่อเกมปองเข้ากับทีวี การส่งปองขึ้นไปเล่นบนจอทีวีดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ โจทย์สำคัญสำหรับทีมงาน คือต้องทำเกมทั้งหมดให้อยู่ในไมโครชิปตัวเดียวให้ได้ อย่าว่าแต่ไมโครชิปตัวเดียวเลย ...ที่ผ่านมาอาตาริยังไม่เคยใช้ไมโครชิปผลิตเกมเลยด้วยซ้ำ!

วีดิโอเกม Pong สำหรับเล่นที่บ้านกลายเป็นของเล่นที่ขายดีที่สุดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี 1975 โดยมีผู้คนมายืนเข้าคิวหน้าร้านกันเป็นชั่วโมงๆ เพียงเพื่อลงชื่อสั่งจองสินค้า หลังจากที่ Pong วางขายในร้านค้า 900 แห่งทั่วประเทศ ชื่ออาตาริก็กลายเป็นที่รู้จักยิ่งกว่าเก่าหลายเท่า น่าเสียดายที่บุชเนลยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้เพียงปีเดียวก็รู้สึกถึงความไม่มั่นคงใต้ฝ่าเท้า บุชเนลเริ่มออกช้อปปิ้งหาบริษัทที่ยินดีจะซื้ออาตาริ คนที่ได้รับมรดกของบุชเนลไปคือสตีฟ รอสส์ (Steve Ross) ประธานบริษัท Warner Communication (Time Warner ในเวลาต่อมา) ซึ่งตกลงใจซื้ออาตาริไปในราคา 28 ล้านดอลลาร์ เพราะเล็งเห็นว่าบริษัทจะโตได้อีกไกล จากการที่ได้เห็นลูกๆ ของตัวเองชื่นชอบวีดิโอเกมเสียเหลือเกิน

ร้านอาหาร

แต่ธุรกิจที่ไปได้ดีและประสบความสำเร็จอยู่ในมือเขาสั้นเกินไป ส่วนใหญ่ก็เพราะเขามักจะหันไปสนใจอย่างอื่นแทน ไม่ได้บริหารธุรกิจในมือให้ตลอดรอดฝั่ง หลังขายอาตาริ บุชเนลเปิดร้านพิซซ่าแนวใหม่ในปี 1977 ร้าน Chuck E. Cheese เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เล่นเกมในสิ่งแวดล้อมสะอาด อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ พิซซ่าที่นี่รสชาติไม่ได้เลิศรสอะไรแต่เด็กๆ ติดใจหุ่นการ์ตูนและตู้เกมกับของเล่น

แต่ Chuck E. Cheese กลับตกอยู่ในภาวะล้มละลายในปี 1984 ทั้งที่ร้านอาหารมีจุดแข็ง เพราะบุชเนลนำกำไรจากร้านไปทุ่มให้กับธุรกิจใหม่ คือบริษัท Catalyst บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีลำดับแรกๆ ของโลก รวมทั้งบริษัทผลิตเกมชื่อ Sente (ตั้งชื่อตามหมากเซ็นเตะ หมากตัวนำในเกมหมากล้อม) เจ้าของผลงานเกมฮอกกี้ Hat Trick (1984) ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร รวมแล้วบุชเนลก่อตั้งบริษัทราว 20 บริษัท

บุชเนลมีลูกทั้งหมดแปดคน ทุกคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นตั้งแต่ขวบครึ่งโดยเริ่มจากการเล่นเกม แน่นอนว่าคนที่ส่งเสริมคือผู้เป็นพ่อ ซึ่งเชื่อว่าการเล่นเกมคือการเรียนรู้ และเกมคอมพิวเตอร์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความใคร่รู้และความคิดสร้างสรรค์ บุชเนลมองว่าเกมไม่ได้ตัดขาดคนออกจากสังคม เพียงแต่มันให้ประสบการณ์อีกแบบที่กิจกรรมในโลกความเป็นจริงให้ไม่ได้ อย่างน้อยๆ การได้เตะบอลโดยเห็นภาพผ่านมุมมองของนักเตะเองก็สนุกกว่านั่งดูเกมข้างสนามนั่นแหละ

ไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจล่าสุดของเขาจะยังพัวพันกับเกมและการใช้เวลากับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ร้านอาหารไฮเทคชื่อ uWink คือลูกรักรายปัจจุบันที่มีคอนเซ็ปต์สนุกสนานถูกใจบุชเนลเปี๊ยบ สมกับที่ทุ่มเงินลงทุนและใช้เวลาพัฒนาถึงเจ็ดปีกว่าจะได้ร้านอาหารที่มีระบบเอนเตอร์เทนเมนต์ออนไลน์สมบูรณ์แบบ ที่ uWink ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้จากจอทัชสกรีนที่โต๊ะ และเล่นเกมหรือดูหนังและวีดิโอสั้นๆ ได้ระหว่างที่รออาหาร

Did you know?
อาตาริ คือบริษัทแรกที่สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) และสตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) สองผู้บริหารของบริษัท Apple นำเสนอแบบคอมพิวเตอร์แมคอินทอชให้ผลิตเป็นเจ้าแรก แต่อาตาริปฏิเสธไปเพราะตอนนั้นอยากเน้นที่ตลาดเกม ไม่สนใจทำคอมพิวเตอร์ขาย
สายสัมพันธ์ระหว่างจ็อบส์กับอาตาริเริ่มจากการที่เขาเคยเป็นพนักงานที่นั่น และสร้างวีรกรรมเอาไว้เมื่อได้รับมอบหมายให้ออกแบบแผงวงจรสำหรับเกมใหม่ พร้อมข้อเสนอยั่วใจจากบุชเนล คือจะให้เงิน 100 ดอลลาร์สำหรับการลดจำนวนชิปในวงจรได้หนึ่งตัว ตอนนั้นจ็อบส์บอกวอซเนียกให้ร่วมมือกันโดยจะแบ่งเงินให้หารสอง ปรากฏว่าวอซเนียกลดจำนวนชิปลงได้อย่างน่าทึ่งถึง 50 ตัว งานนี้จ็อบส์รวยเละเพราะได้มา 5,000 แต่แบ่งให้วอซเนียกไปแค่ 300 ดอลลาร์ โดยบอกว่าได้มา 600 ดอลลาร์เท่านั้น!

ติดตามอ่านเต็มๆทั้งหมดได้ที่
คอลัมน์ "MEN FROM MARS "
นิตยสาร “Mars” เดือนมกราคม 2552 ฉบับที่ 75
ตามแผงหนังสือได้แล้ววันนี้
เรื่อง :ส้มขิง

กำลังโหลดความคิดเห็น