xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวความเคลื่อนไหวเกมออนไลน์ในไทย พ.ศ.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับปี พ.ศ.2551 ที่ทั่วโลกพากันประสบปัญหาเศรษฐกิจ จนบริษัทและสตูดิโอพัฒนาเกมหลายแห่งทั่วโลกมีการลดขนาดองค์กร บางแห่งก็ถึงขั้นปิดไปเลย แต่ดูเหมือนบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่ สังเกตุได้จากการเปิดตัวเกมออนไลน์ใหม่ๆมากมายหลายเกม โดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนแรงลงเลยแม้แต่น้อย

สงครามแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดยังเข้มข้น


บรรดาเกมออนไลน์ที่เปิดตัวในปีนี้ เมื่อมองในแง่ของการต่อสู้ทางธุรกิจแล้ว พบว่ามีหลายบริษัทเลือกที่จะหลีกเลี่ยงเกมประเภท MMORPG ซึ่งของเดิมที่เปิดกันอยู่ก็เยอะมากจนเล่นกันไม่ครบ ที่น่าสนใจก็คือ การต่อสู้ของเกมแนว First Person Shooting (FPS) ซึ่งเดิมนั้นในประเภทของเกมออนไลน์มี "สเปเชี่ยลฟอร์ซ" ของบริษัททรูดิจิตอลเป็นเจ้าตลาดอยู่ ปรากฏว่าในปีนี้บริษัทเอเชียซอฟท์ได้ส่ง Sudden Attack เกมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากประเทศเกาหลีใต้มาเป็นคู่แข่ง ซึ่งทางฝั่งทรูเองก็ไม่ยอมน้อยหน้าด้วยการเปิดตัว Point Blank ซึ่งให้บริการโดยบริษัท เอ็นซีทรู ออกมาชนแบบทันควัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเกมแนว FPS อย่างไรก็ตามสงครามยังไม่จบอย่าพึ่งนับศพทหาร วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดูกันต่อไป

แนวเกมอีกประเภทที่เริ่มมีการต่อสู้กันอย่างจริงจังในปีนี้ คือเกมแคชชวลเรซซิ่งแบบโกคาร์ท ซึ่งมีการเปิดตัวในปีนี้หลายเกม อาทิ Pucca Racing ที่ให้บริการโดยบริษัท อินิทรี ดิจิตอล , Crazy Mon Racing ให้บริการโดยบริษัท เอ็นซีทรู , Kart Rider ให้บริการโดยบริษัท ทรูดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ , Crazy Kart ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์ แต่สำหรับรายสุดท้ายนี้ได้ประกาศยุติการให้บริการไปเรียบร้อยแล้วหลังจากเปิดตัวได้ไม่ทันครบปี และจากการที่ทรูส่งเกมแนวนี้เจาะตลาดถึง 2 เกม น่าจะส่งผลให้ทรูเป็นผู้ครองตลาดเกมแนวนี้ในท้ายที่สุด

ที่ดูจะเหนื่อยน้อยกว่ารายอื่นๆคงจะเป็นเกมออนไลน์ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือไม่มีคู่แข่ง อาทิ FreeStyle Street Basketball ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น , EAsport Fifa Online 2 ให้บริการโดยบริษัท ทรูดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ , Ace Online ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์ , PVP : LET THE WAR BEGIN ให้บริการโดยบริษัท ซิลเวอร์คอยน์

อย่างไรก็ตามในตลาดใหญ่อย่าง MMORPG ยังคงมีการเปิดตัวเกมใหม่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งมีคู่แข่งมากเหลือเกิน และที่ดูจะโดดเด่นที่สุดในกลุ่มนี้คงจะหนีไม่พ้น Dekaron ที่ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น โดยเปิดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแต่กลับได้รับความนิยมสูงเกินคาด ซึ่งจากการเข้าไปเล่นเอง รวมถึงสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่เข้าไปเล่น พบว่าสิ่งที่จูงใจให้เล่นคือ การประกาศเรตติ้ง 18+ ที่ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะมีสังคมที่ดีภายในเกม รวมถึงรายละเอียดหลายอย่างที่คล้ายกับ "เวิลด์ ออฟ วอร์คราฟท์" เกมออนไลน์ระดับโลก เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนแบบเกมดังรุ่นใหญ่ที่ต้องจ่ายกันเยอะพอสมควร

รายชื่อเกมออนไลน์ที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2551

Luna Online ให้บริการโดยบริษัท จาย่า ซอฟท์ วิชั่น
FreeStyle Street Basketball ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
Ghost Online ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
Hip Street ให้บริการโดยบริษัท ทรู ดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนท์
Pucca Racing ให้บริการโดยบริษัท อินิทรี ดิจิตอล
Crazy Mon Racing ให้บริการโดยบริษัท เอ็นซีทรู
Summoner Master Online ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
Red Stone ให้บริการโดยบริษัท แวโลฟ
Sudden Attack ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
Kart Rider ให้บริการโดยบริษัท ทรูดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนท์
EAsport Fifa Online 2 ให้บริการโดยบริษัท ทรูดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนท์
Ace Online ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์
PVP : LET THE WAR BEGIN ให้บริการโดยบริษัท ซิลเวอร์คอยน์
Q-World ให้บริการโดยบริษัท คิวบิเน็ต อินเตอร์แอ็คทีฟ
Nostale ให้บริการโดยบริษัท แวโลฟ
Dekaron ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
Point Blank ให้บริการโดยบริษัท เอ็นซีทรู
C21 ให้บริการโดยบริษัท ดิจิคราฟท์
Crazy Kart ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์
Crazy Shooter Online ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์
Ray City ให้บริการโดยบริษัท โกลด์เด้นซอฟท์
Secret Online ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์
Wonderland Online ให้บริการโดยบริษัท อ่อนนุช 20
Nine Hero ให้บริการโดยบริษัท อ่อนนุช 20
Patrix Online ให้บริการโดยบริษัท อ่อนนุช 20

รายชื่อเกมออนไลน์ที่ยุติการให้บริการในปี พ.ศ.2551

Seal Online ให้บริการโดยบริษัท ฟันบ็อกซ์
Trickster Online ให้บริการโดยบริษัท ซิลเวอร์คอยน์
Crazy Kart ให้บริการโดยบริษัท วินเนอร์ ออนไลน์
TS Online ให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น

งานแสดงสินค้าธุรกิจเกมในไทย = งานเกมออนไลน์

นับเป็นปีที่ 2 สำหรับ TGS หรือ "Thailand Game Show 2008 presented By 1-2-Call" งานมหกรรมเด็กเล่นเกมครั้งที่ 2 ซึ่งตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องยิ่งใหญ่กว่าการจัดครั้งแรก โดยมีบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในประเทศไทยมาร่วมเปิดบูธกันมากมาย ทำให้งานครั้งนี้คล้ายกับเป็นงานแสดงเกมออนไลน์ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตามทางผู้จัดงานก็ได้เตรียมกิจกรรมมากมายที่นอกเหนือจากเกมออนไลน์ช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน อาทิ การเปิดงานโดยให้สาวสวยยอดนักสู้ "จีจ้า" นางเอกภาพยนต์เรื่อง "ช็อคโกแล็ต" ปะทะกับตัวละครเกม "สตรีทไฟเตอร์" , กิจกรรม “7 ดาราท้าดวล Winning Eleven” ชิงเงินสด 100,000 บาท การแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกจากโคนามิและซิลเวอร์คอยน์ , กิจกรรม “Game Challenge” การกลับมาของโซนเซียนเกม , เปิดโซน “Game Mart” ตลาดของเล่นเกม ,การ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดและมากที่สุด , การประกวด “TGS Cosplay Contest” ขบวนพาเหรดและการประกวดคอสเพลย์ ชิงเงินรางวัลรวม 100,000 บาท , การประกาศรางวัล COMPGAMER Awards

ถัดมาอีก 2 เดือนหลังจากงาน TGS2008 ก็ถึงคิวของงาน BIG หรือ "Bangkok Interactive Game Festival 2008" งานที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นจุดศูนย์รวมในการแสดงภาพรวมของสินค้าในกลุ่มธุรกิจเกมทั้งหมด รวมถึงด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ โดยมีกิจกรรมหลากหลายภายในงาน อาทิ การมอบรางวัล Thailand Game Awards ให้กับเกมและบริษัทที่ให้บริการเกม , การแข่งขัน E-Sports Thailand Championship (ESTC) ที่จัดขึ้นเพื่อคัดสรรเยาวชนไทยเพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับประเทศและระดับนานาชาติ , การแสดงคอนเสิร์ต , การประกวดออกแบบพีซี , การประกวด Miss BIG , การพบปะพูดคุยกับนักพัฒนาเกมมืออาชีพ

การจัดบูธภายในงาน BIG ที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้น "อิเล็กทรอนิกส์ อาร์ต" ยักษ์ใหญ่ในวงการเกมระดับโลก และบูธที่แสดงผลงานจากการแข่งขัน “Thailand Game Developer Challenge 2008” (TGDC) ที่มีโจทย์ให้พัฒนาเกมเกี่ยวกับ “ดาวเทียม” ภายในเวลา 20 วัน ขณะที่บูธอื่นๆจะเป็นบูธของสินค้าด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ , การ์ตูน , รวมถึงบูธของบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในประเทศไทย ซึ่งมาเปิดบูธกันมากมายหลายบริษัท ทำให้บรรยากาศของงานแสดงสินค้ากลุ่มธุรกิจเกมในประเทศไทยยังคงมุ่งเน้นไปที่เกมออนไลน์เป็นหลัก

ภาครัฐเริ่มตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วมดูแลธุรกิจเกมมากขึ้น

ภายหลังจากเหตุการณ์เยาวชนก่อเหตุรุนแรงเลียนแบบเกม GTA ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับเกมออนไลน์ในตอนแรก แต่ด้วยการนำเสนอข่าวของสื่อที่ขาดความรู้ความเข้าใจจนสังคมเข้าใจไปว่าเกมดังกล่าวเป็นเกมออนไลน์ ทำให้บริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในประเทศไทยพากันออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ภาครัฐมีความตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดประชุมสุดยอดแนวทางแก้ไขปัญหาเกมในประเทศไทยภายใต้ชื่อ DSI Thailand Game Summit โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมและบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเกมออนไลน์ร่วมจัดงานดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเภทและแนวเกม ตลอดจนการผลักดันให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและสามารถปฎิบัติได้จริง ซึ่งเนื้อหาของงานประชุมดังกล่าวได้มุ่งเน้นไปที่แนวทางการกำหนดเรตติ้งเกมและการปราบปรามเกมละเมิดลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้แสดงท่าทีว่ามีการเปิดใจให้กับธุรกิจเกมมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนอย่างเช่นในต่างประเทศแต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย โดยได้การร่วมมือกับภาคเอกชนจัดการแถลงข่าวการจัดนิทรรศการเกมดี Game D Exhibition เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและผู้ปกครองรู้เท่าทันสื่อแต่ละประเภท รวมถึงมีเกณฑ์ในการเลือกใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสื่อเกมให้กับทุกภาคส่วนของสังคม พร้อมด้วยโครงการโรงเรียนสอนเล่นเกม ที่หวังให้ความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ ให้รู้ถึงรายละเอียดของเกมแต่ละประเภท รวมถึงวิธีการดูแลแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม และจิตวิทยาในการจูงใจเด็ก เพื่อลดช่องว่างภายในครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น