"iSuppli" บริษัทสำรวจและวิจัย ระบุว่า การขายเครื่องเพลย์สเตชัน 3 ยังตกอยู่ในภาวะขาดทุนประมาณ 50 เหรียญสหรัฐต่อเครื่อง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตเครื่องอยู่ที่ 448.73 เหรียญสหรัฐ แต่ขายเครื่องในราคา 399 เหรียญสหรัฐ
การที่เครื่องเพลย์สเตชัน 3 ขาดทุนประมาณ 50 เหรียญสหรัฐต่อเครื่องถือเป็นการขาดทุนที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ ช่วงที่เครื่องเพลย์สเตชัน 3 เปิดตัววางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2006 โดยช่วงนั้นเครื่อง PS3 ที่จำหน่ายในราคา 599 เหรียญสหรัฐ มีต้นทุนจริงอยู่ที่ 840 เหรียญสหรัฐ ขณะที่เครื่องที่จำหน่ายในราคา 499 เหรียญสหรัฐ มีต้นทุนจริงอยู่ที่ 805 เหรียญสหรัฐ
เพื่อลดต้นทุนในการผลิตเครื่อง โซนี่ใช้ใช้ประโยชน์จากชิปประมวลผลที่มีขนาดเล็ก และมีราคาที่ถูกกว่า โดยเซลโปรเซสเซอร์ จากเดิมในปี 2006 ที่ราคา 89 เหรียญสหรัฐ ก็สามารถลดลงเหลือ 46 เหรียญสหรัฐ และ Nvidia Reality Synthesizer จากราคา 129 เหรียญสหรัฐในปี 2006 ก็สามารถลดเหลือ 58 เหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นการใช้ชิปที่มีขนาดเล็กลงยังช่วยประหยัดไฟได้ด้วย ทำให้เครื่องเพลย์สเตชัน 3 ออกวางจำหน่ายไปพร้อมกับสายไฟที่มีขนาดเล็ก และราคาถูกลง จากเดิมที่ราคา 30.75 เหรียญสหรัฐ ก็ลดเหลือ 21.50 เหรียญสหรัฐ
โซนี่ตัดสินใจตัดชิป "Emotion Engine" ออกจากเครื่องเพลย์สเตชัน 3 ชิปตัวนี้หากมีอยู่จะสามารถทำให้เครื่อง PS3 สามารถเล่นเกมของเครื่องเพลย์สเตชัน 2 การตัดชิปตัวนี้ออกไปเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โซนี่สามารถลดต้นทุนการผลิตเครื่องได้
การลดต้นทุนอีกหนึ่งทางของโซนี่คือการลดชิ้นส่วนของเครื่อง ในช่วงที่เครื่องเพลย์สเตชัน 3 ออกวางจำหน่ายครั้งแรกมีชิ้นส่วนทั้งหมดรวมคอนโทรเลอร์ถึง 4,048 ชิ้น จากนั้นโซนี่ก็พยายามลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออกจนเอาออกไปได้ 30 เปอร์เซนต์ มีชิ้นส่วนอยู่ทั้งสิ้น 2,820 ชิ้น
การขาดทุนของเครื่องเพลย์สเตชัน 3 จะดีขึ้นได้ขึ้นอยู่กับยอดขายซอฟต์แวร์เกมบนเครื่อง PS3 อย่างไรก็ตาม iSuppli มั่นใจว่าในไม่ช้าโซนี่จะสามารถผ่านช่วงภาวะขาดทุนเครื่องเพลย์สเตชั่น 3 ไปได้ และจะเริ่มทำกำไรได้ในปี 2009
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
www.gamasutra.com