xs
xsm
sm
md
lg

เครื่อง Wii ถูกฟ้องละเมิดสิทธิบัตรอีกคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นินเทนโดถูกบริษัทในอเมริกาฟ้องละเมิด 4 สิทธิบัตรบนเครื่องเกมเกมตัวเก่ง “Wii” ฐานแอบใช้เทคโนโลยีบังคับด้วยการจับเคลื่อนไหวกับจอทีวี พร้อมยื่นคำสั่งห้ามนำเข้าเครื่องมาขายอีก ส่วนนินเทนโดปฏิเสธชี้แจง เพราะยังไม่ทราบเรื่อง

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งได้รายงานข่าวบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น “นินเทนโด” ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากบริษัทแห่งหนึ่งที่ชื่อ “ฮิลล์เครสต์ แลบบอทอรี่ส์” (Hillcrest Laboratories) โทษฐานละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการบังคับด้วยการจับเคลื่อนไหวที่นินเทนโดนำมาใช้ในระบบเครื่องคอนโซลเกมสุดขายดี “นินเทนโด วี” (Wii)

ทั้งนี้ ความประสงค์แรกของบริษัท“ฮิลล์เครสต์”ก็คือต้องการให้คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐในวอชิงตัน (U.S. International Trade Commission) สั่งห้ามการนำเข้าทั้งตัวเครื่องวี และจอยวี รีโมต รวมไปถึงการไปฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาลในกรีนเบลต์ มลรัฐแมรี่แลนด์อีกด้วย

ฮิลล์เครสต์ระบุว่า บริษัทของเขามีสิทธิบัตรถึง 3 ตัวเกี่ยวกับเทคโนโลยีการควบคุมด้วยการเคลื่อนไหว และสิทธิบัตรตัวที่สี่เกี่ยวข้องกับกราฟิก อินเตอร์เฟส ซอฟต์แวร์ที่ใช้บนจอทีวี โดยอ้างว่าเครื่องเกมนินเทนโดใช้ลักษณะการเล่นเกมแบบเดียวกับสิทธิบัตรของเขา ที่ใช้เครื่องควบคุมขยับกวัดแกว่งไปมาอย่างมีปฏิสัมพันธ์กับภาพบนจอทีวี

บริษัทรายล่าสุดที่ยื่นฟ้องนินเทนโดเกี่ยวกับจอยขยายความต่อว่า บริษัทเขาได้ให้อนุญาตใช้สิทธิบัตรเทคโนโลยีการควบคุมด้วยการเคลื่อนไหวที่ชื่อ “Freespace”กับบริษัท Logitech International, Universal Electronics และบริษัทอื่นๆ ส่วนกราฟิก อินเตอร์เฟส เทคโนโลยีที่ใช้ชื่อว่า “Home” ก็ได้อนุญาตให้อีกหลายบริษัทไปใช้เช่นกัน แต่ปฏิเสธที่จะบอกชื่อบริษัทเหล่านั้น พร้อมกับเชื่อว่านินเทนโดจะให้ความชัดเจนกับเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรนี้ และเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ด้านยาซุฮิโร มินางาวะ โฆษกของนินเทนโดบอกว่า ทางบริษัทยังไม่ได้รับแจ้งถึงคดีความดังกล่าวแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นใดกับคดีนี้ได้

ปัจจุบันเครื่องเกมนินเทนโด วีสามารถขายได้ในอเมริกาจำนวน 555,000 เครื่องตลอดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 49 % ของตลาดเกม ก่อนหน้านี้ Wii ก็เคยมีคดีฟ้องร้องเรื่องจอยควบคุมมาหลายคดี ตั้งแต่ปี 2006 ที่เคยมีการฟ้องของอินเตอร์ลิงค์ อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัท Anasca

ข้อมูลและภาพประกอบจาก...
www.bloomberg.com
กำลังโหลดความคิดเห็น