xs
xsm
sm
md
lg

ศึกแข่งวินนิ่ง WTG ดึงร้านเกมสู่สนามแข่ง แก้ปัญหาลิขสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ (กลาง)
"หนุ่ย พงศ์สุข" ผู้จัดแข่งเกมฟุตบอลวินนิ่ง อีเลฟเว่น "WTC 2008"วอนทั้งร้านเกมและเจ้าของลิขสิทธิ์ควรพยายามหาจุดร่วมเพื่อบรรเทาปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ หลังพยายามคิดจูงใจให้ร้านเกมทั่วประเทศเสนอตัวเป็นสนามแข่งขันที่จะได้ทั้งสิทธิ์การคุ้มครองและเงินรางวัล หากผู้ชนะเลิศมาจากร้านต้นสังกัด

เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาและกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจทั้งงานเพลง ,ภาพยนตร์ รวมทั้งลิขสิทธิ์ของเกมที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันหนึ่งในนั้นก็คือ “วินนิ่ง อีเลฟเว่น” (Winning Eleven) เกมฟุตบอลที่ได้รับความนิยมจากผู้เล่นเกมไทยถึงร้อยละ 90 หรือกว่า 6 ล้านคนของผู้เล่นเกมทั้งหมด

จากความนิยมของผู้เล่นมีจำนวนมาก ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์จึงทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการเปิดการแข่งขัน “Winning Eleven Thailand Championship 2008” (WTC 2008) คณะผู้จัดงานจึงมีแนวคิดหาพันธมิตรร้านเกมที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าเข้าร่วมเป็น Stadium หรือ สนามแข่งขันทั่วประเทศ โดยให้ร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมถือลิขสิทธ์เกม “วินนิ่ง อีเลฟเว่น” อย่างถูกต้องจนจบการแข่งขัน

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โชว์ไร้ขีด หรือ Show No Limit ในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันอย่างถูกต้องจากบริษัทซิลเวอร์คอยน์ เจ้าของลิขสิทธิ์เกม “วินนิ่ง อีเลฟเว่น”ในประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าของลิขสิทธิ์ที่นำเข้าเกมต่าง ๆ ต้องพบกับปัญหาลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก จากการเติบโตของธุรกิจเกมในบ้านเรา ซึ่งร้านเกมส่วนใหญ่ไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อการทำธุรกิจส่วนนี้โดยตรง

นายพงศ์สุข กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ขณะที่นโยบายการป้องปรามของภาครัฐ ทำได้เพียงเข้าตรวจสอบ เพื่อสร้างความกดดันเท่านั้น บทลงโทษที่มีอยู่ไม่รุนแรงเท่าที่ควร ทำให้ประสิทธิภาพในการจับกุมไม่เข้มงวด ขณะเดียวกันถ้าเปรียบเทียบเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์ในหลายประเทศ กลับมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าหลายเท่า แต่หากมองในมุมของผู้เปิดกิจการร้านอินเตอร์เน็ต การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในอัตราสูง จะมีผลกระทบต่อรายได้โดยตรง ด้วยรูปแบบของร้านเกมในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดกลางและขนาดเล็ก

“ดังนั้นในฐานะที่อยู่ในวงการเกมและไอทีมานาน จึงเห็นว่าทั้งร้านเกมและเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องพยายามหาจุดร่วม เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับการจัดงานแข่งขัน WTG 2008 ด้วย เพราะในขั้นตอนการแข่งขัน เราจะให้ร้านเกมทั่วประเทศเสนอตัวเพื่อคัดเลือกเป็นสเตเดี่ยมในการแข่งขัน พร้อมทั้งยังเสนอสิ่งจูงใจเป็นรางวัลหากผู้ชนะในสเตเดี่ยมนั้น ๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการสำรวจจำนวนร้านเกมที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว ในฐานะสเตเดี่ยมในการแข่งขัน ร้านเกมนั้น ๆ ยังได้ใช้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายของ “วินนิ่ง อีเลฟเว่น”จนถึง ธันวาคม 2551 นี้ หลายคนอาจจะมองว่าระยะเวลาในการครอบครองลิขสิทธิ์ของร้านเกมเพียงช่วงหนึ่ง แต่ผมเห็นว่านี่คือจุดเริ่มต้น ในการหาทางออกเพื่อเป็นแนวทางในการบรรเทาปัญหาลิขสิทธิ์เกมต่อไป” นายพงศ์สุขกล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าทางออกในการแก้ปัญหาอาจจะไม่สามารถสรุปได้ภายในเร็ววัน แต่หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ ร้านเกม และหน่วยงานปราบปรามทางภาครัฐ เข้ามามีส่วนร่วม เชื่อได้ว่าในอนาคตภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของทั่วโลกในฐานะประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในอันดับต้น ๆ จะปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น