xs
xsm
sm
md
lg

ผลการทดลองชี้ "ชิมแปนซี" มีทักษะการจดจำดีกว่าเด็กมหาลัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"อายูมุ" ลิงชิมแปนซีแสนรู้เพศผู้วัย 7 ปี สามารถเล่นเกมที่ทดสอบความจำได้ดีกว่าผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัย ข้อสรุปดังกล่าวได้จากการทดสอบโดยใช้ตัวเลข 1-9 แสดงขึ้นมาบนหน้าจอในตำแหน่งต่างๆเพียงชั่วครู่ จากนั้นจะมีกรอบสีเหลี่ยมสีขาวบังตัวเลขไว้ อายูมุ สามารถระบุตำแหน่งและเรียงลำดับจากเลขน้อยไปหาเลขมากได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง กว่าเด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัย

"ทัตซูโร มัตซึซาว่า" ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าทีมทดลองครั้งนี้ กล่าวว่า "มันเป็นความจริง ที่ลิงชิมแปนซีสามารถทำบททดสอบเกี่ยวกับความจำได้ดีกว่ามนุษย์อย่างเรา"

การทดลองครั้งนี้ไม่ได้สรุปว่า ลิงชิมแปนซี มีความฉลาดรอบรู้กว่ามนุษย์ แต่สามารถบอกได้ว่าลิงชิมแปนซี มีทักษะในการจดจำภาพที่เห็นเพียงชั่วขณะได้ดีกว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการจดจำตัวเลขบนหน้าจอ หรือการจำตำแหน่งผลไม้ที่อยู่บนต้นไม้ มนุษย์อาจจะไม่มีทักษะในด้านการจดจำแบบนี้เท่ากับลิง เนื่องจากมนุษย์ ใช้พื้นที่ในสมองส่วนใหญ่ไปในศาสตร์ที่ซับซ้อนมากกว่า อาทิ การเข้าใจภาษา และ สัญลักษณ์ที่ซับซ้อน

มัตซึซาว่า ทำการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมานกว่า 20 ปี เขาเริ่มต้นสอนลิงชิมแปนซีเพศเมียที่ชื่อว่า "AI" ให้รู้จักและจดจำตัวเลขอาราบิก ในภายหลังเขาและ "โนบูยูกิ คาวาอิ ได้ร่วมมือกันฝึกให้ "AI" จำตำแหน่งของตัวเลขที่ขึ้นมาเพียงชั่วครู่บนหน้าจอ จากนั้นจะมีสี่เหลี่ยมสีขาวเข้ามาบดบัง ซึ่ง "Ai" จะต้องระบุให้ได้ว่าตำแหน่งตัวเลข 1 ถึง 9 อยู่ตรงไหนบ้างตามลำดับจากน้อยไปหามาก หลังจากให้ลิงเล่นเกมทดสอบความจำนี้มากขึ้น ก็มีพัฒนาการทีดีขึ้น โดยใช้เวลาในการจดจำน้อยลง และมีความแม่นยำมากขึ้น(สามารถดูวิดีโอการทดสอบได้ที่นี่)

หลังจากฝึกฝน "AI" แล้วก็ถึงคราวของลิงรุ่นต่อไป โดยคราวนี้ "มัตซึซาว่า" และ "ซานะ อิโนอุเอะ" ได้ร่วมมือกันฝึกลิงชิมแปนซีแม่ลูกถึง 3 คู่ เกี่ยวกับการรับรู้และจดจำตัวเลข เหมือนกับที่ "AI" ได้รับการฝึกฝนมา ผลการทดลองสรุปได้ว่า การรับรู้และจดจำตัวเลขของลิงชิมแปนซีตัวลูก สามารถทำได้ดีกว่าลิงชิมแปนซีตัวแม่ นอกจากนั้น "อายูมุ" ลิงชิมแปนซีเพศผู้ลูกชอง "AI" ก็ทำเกมบททดสอบได้ดีที่สุดอีกด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับลิงตัวอื่น

เมื่อนำลิงชิมแปนซี "อายูมุ" มาเล่นเกมทดสอบการรับรู้และจดจำตัวเลข กับผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าฝ่ายเจ้าลิงสามารถเอาชนะได้อย่างขาดลอย โดยมีอัตราความแม่นยำอยู่ที่ 80 เปอร์เซนต์ ส่วนคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยมีความแม่นยำเพียง 40 เปอร์เซนต์(สามารถดูวิดีโอทดสอบได้ที่นี่)

การทดสอบยังไม่ได้สามารถชี้ชัดได้ว่า "อายูมุ" มีความจำยาวนานมากน้อยเพียงใดกับการจดจำตำแหน่งตัวเลขที่ขึ้นมาเพียงชั่วครู่บนหน้าจอ แต่ได้มีการทดสอบหนึ่งขึ้นมาเพื่อทดสอบอายูมุ ด้วยการทำเสียงรบกวนเพื่อดึงความสนใจของอายูมุ ซึ่งอายูมุ ก็หยุดเล่นเกมทดสอบชั่วขณะประมาณ 10 วินาทีแล้วหันมาสนใจ จากนั้น อายูมุ ก็หันไปทำแบบทดสอบต่อจนเสร็จถูกต้อง ในอนาคตมัตซึซาว่า วางแผนที่จะทดสอบว่าลิงตัวนี้มีการรับรู้และจดจำได้นานเพียงใด(สามารถดูวิดีโอทดสอบได้ที่นี่)

มัตซึซาว่า เปิดเผยว่า อายูมุ ได้เล่นเกมทดสอบความจำนี้ตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบันก็ 7 ปีเต็ม ซึ่งมัตซึซาว่า ระบุว่า อายูมุ ไม่ได้มีความได้เปรียบจากการฝึกฝนตั้งแต่เด็กแต่อย่างใด เพราะกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทดสอบครั้งนี้นั้นก็ได้มีการฝึกฝนมาก่อนแล้วในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนเต็ม แต่ดูว่าความรวดเร็วและแม่นยำจะยังสู้น้องลิงไม่ได้

ความสามารถในการจดจำของมนุษย์ที่ไม่สามารถสู้กับลิงได้ มัตซึซาว่า ระบุว่าเป็นเพราะลิงถือเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เมื่อประมาณ 5-6 พันปีที่แล้ว แต่มนุษย์มีวิวัฒนาการขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านสมอง ที่สามารถเรียนรู้ด้านภาษา หรือ สัญลักษณ์ที่ซับซ้อน ซึ่งอาจจะทำให้ทักษะของมนุษย์ด้อยลงไปในเรื่องการจดจำสิ่งที่เห็นเพียงชั่วครู่

"ไมเคิล เบรอน" นักจิตวิทยาของ จอร์เจีย สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ให้ความเห็นว่า ถ้าลิงชิมแปนซี จะมีความสามารถอะไรบางอย่างดีกว่ามนุษย์ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ลิงกับมนุษย์มีอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้ลิงดูเป็นอัจฉริยะเหมือนไอน์สไตน์ ก็คือการให้ลิงทำในสิ่งที่พวกเขาถนัด อย่างไรก็ตาม เบรอน ก็ได้ระบุว่ายังไงลิงก็มีขีดจำกัดของตัวเอง โดยเขาระบุว่า เขาทำงานกับลิงชิมแฟนซีแสนรู้มามาก แต่ไม่เคยเห็นลิงทำการบ้านเกี่ยวกับโจทย์แคลคูลัสสักที

ข้อมูลและภาพประกอบจาก
www.nature.com
กำลังโหลดความคิดเห็น