“นายพรพัฒน์ ปัญญา” อีกหนึ่งคนไทยที่มุ่งมั่นเอาดีทางด้านการพัฒนาเกม ด้วยการเดินทางไปศึกษาด้านเกมโดยเฉพาะกันถึงแดนปลาดิบ หลังจากจบคณะศิลป์ศาสตร์ ธุรกิจภาษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนในตอนนี้ก็มีเกม “ฮิเรเนะ”ที่ช่วยกันสร้างกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนมาให้ได้ลองกันในงาน “โตเกียว เกมโชว์” เป็นครั้งแรก มั่นใจ 2 ปี คนไทยทำเกมเทียบชั้นญี่ปุ่นได้
พรพัฒน์เล่าถึงชีวิตในโรงเรียนสอนพัฒนาเกมในต่างแดนว่า ตัวเขาเรียนคอร์สพัฒนาเกมที่โรงเรียน “นิฮองเดนชิเซมมงกักโค” มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว และกำลังจะจบการศึกษาในมี.ค.ปีหน้า ส่วนสาเหตุที่เลือกการทำเกมเป็นอาชีพ เพราะส่วนตัวชื่นชอบเกมและเติบโตมากับเกมเลยก็ว่าได้ ขณะที่จุดเริ่มต้นในการเดินเข็มมาทางพัฒนาเกม พรพัฒน์เริ่มจากการเข้าไปค้นหาข้อมูลโรงเรียนเองตั้งแต่เมืองไทยก่อนที่จะมาญี่ปุ่นจากทางอินเตอร์เน็ต
“คิดว่าการเล่นเกมเหมือนคุณอ่านนิยายที่ดีโดยผ่านสื่อกลางรูปแบบใหม่แค่นั้นเอง มันไม่ได้ผิดอะไร และเกมโดยตัวมันเองแล้วเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีเหมือนพวกภาพยนตร์ เพราะประกอบไปด้วยศาสตร์หลายๆอย่างประกอบเข้าด้วยกันเลยค่อนข้างยากและท้าทายที่จะทำออกมาให้ได้ดี” พรพัฒน์เผยความรู้สึก
เมื่อถามว่าคนที่อยากไปเรียนทำเกมในญี่ปุ่นจะต้องมีพื้นฐานด้านภาษาญี่ปุ่นมากน้อยขนาดไหน พรพัฒน์ให้คำตอบว่า พื้นฐานด้านภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญในการเรียนมาก หากคุณสอบผ่านการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นระดับ 2 ได้ก็สามารถเข้าใจการเรียนการสอนได้ระดับหนึ่งแล้ว เท่าที่สังเกตจากเด็กที่มาเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นที่นี่เป็นครั้งแรก น่าจะใช้เวลา 1-2ปีก็จะสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นระดับ 2 ผ่าน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลนั้นๆ ด้วย
ด้านชีวิตการเรียนกับคนญี่ปุ่นทั่วไปนั้น พรพัฒน์เล่าให้เราฟังว่า โรงเรียนก็สอนเหมือนปกติ ไม่แบ่งแยกว่าเราเป็นคนต่างชาติ ส่วนมากคนที่มาเรียนกันก็อายุรุ่นๆ 18-20 ปี ที่สำคัญ “เป็นโอตาคุก็เยอะ” ส่วนในโรงเรียนเดียวกันก็มีคนไทยประมาณ 10 คนได้ แยกไปเรียนในหลายคณะ ส่วนคอร์สพัฒนาเกมมีตัวเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นตอนนี้
แน่นอนว่าในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเรียนแต่ละเทอม คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ปกครองที่สนใจจะส่งบุตรหลานไปเรียนบ้างต้องนำมาพิจารณา พรพัฒน์จึงเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า การเรียนที่ “เซมมงกักโค” หรือ โรงเรียนอาชีวะของที่นี่ ค่าเทอมค่อนข้างแพง ตกเทอมละ 1,000,000 เยน หรือประมาณ 3 แสนบาทเลยทีเดียว ถึงแม้จะมีครอบครัวคอยช่วยเหลือเรื่องเงินหนุนหลังอยู่ แต่ก็ต้องช่วยครอบครัวไม่ให้ใช้เงินกับเขามากเกินไป จึงทำข้อตกลงกับทางครอบครัวให้ทางบ้านออกค่าเทอมให้บางส่วน โดยค่าใช้จ่ายส่วนตัวจะหากินหาใช้ด้วยตัวเอง
“ต้องมีการทำอะรุไบโตะหรือการทำงานพิเศษเข้ามาเสริม ปีแรกที่มาก็มานวดไทยแผนโบราณ ทำได้ปีครึ่งรู้สึกไม่ไหวเพราะเราขึ้นปี2แล้ว ตารางเวลาเปลี่ยนต้องขยันเรียนให้มากกว่าเดิม จึงเปลี่ยนมาหารายได้เสริมจากการไปไปขายของตามฟรีมาร์เก็ตบ้าง ,ไปออกร้านแบบยะไต หรือหาบเร่แผงลอยขายอาหารไทยตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ บ้างก็รับทำเมนูอาหารให้ร้านอาหารไทย และอื่นๆ โดยเงินที่ได้มานั้นก็เอาเป็นค่าเทอมแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน ,ค่าเช่าบ้าน ,ค่ากิน และค่าไฟฟ้า คิดว่าค่อนข้างลำบากอยู่เหมือนกัน” พรพัฒน์บรรยายถึงชีวิตการเรียนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
สำหรับความรู้สึกที่ผลงานเกมของตัวเองไปโชว์ในงาน "โตเกียวเกมโชว์" ครั้งแรกนั้น พรพัฒน์บอกว่า รู้สึกกลัวเหมือนกันเพราะต้องไปแข่งกับผลงานของโรงเรียนอื่นอีกและอีกอย่างหนึ่งก็กลัวผู้ที่มาเล่นแล้วจะมีคำติชมอย่างไรบ้าง แต่เราก็ต้องยอมรับผลตรงนี้ด้วยเหมือนกัน
ผลงานเกมของพรพัฒน์และเพื่อนๆใช้ชื่อว่า “ฮิเรเนะ” (Hirene) เป็นแนวแอ็กชัน 3มิติบนเครื่องพีซี ตัวเกมใช้ระยะเวลาทำเกือบ 5 เดือน ทำกันทั้งหมด 4 คน เป็นคนเกาหลี 1 คน และคนญี่ปุ่น 2 คน รวมถึงตัวเขาที่รับทำหน้าที่ในส่วนกราฟิกทั้งหมด พรพัฒน์เล่าย้อนไปว่า ในตอนช่วงเริ่มโปรเจกต์กันนั้น ทำงานกันอยู่แค่ 2 คน คือ ตัวเขากับเพื่อนชาวเกาหลี จากนั้นพอทำไปได้ 2 เดือน คนจากโปรเจกต์ที่เกิดล่มก็มาสมทบเพิ่มอีก 2 คน ทั้งนี้ คนที่ไปเที่ยวงานโตเกียว เกมโชว์ที่ผ่านมาจะได้ทดลองเล่นเกมนี้ที่บูทของโรงเรียนนิฮองเดนชิเซมมงกักโคอยู่ฮอลล์ที่ 7 ซุ้ม C4
ข้อคิดที่พรพัฒน์ฝากเอาไว้ให้กับรุ่นน้องที่ใฝ่ฝันและสนใจจะก้าวมาทำเกมบ้างนั้น โดยส่วนตัวเขามองว่าการทำเกมมันประกอบไปด้วยหลายอย่างอาจไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือกราฟิก มันยังมีเพลงและซาวด์เอฟเฟกต์,การกำกับภาพยนตร์หรือองค์ประกอบภาพก็เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมเกมเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชอบว่าเราจะไปทางไหน
“ส่วนคนที่จะมาทางโปรแกรมมิ่งคงต้องเริ่มจากการพูดกับคนให้เข้าใจก่อน และทำให้มันสั้นกะทัดรัดและความหมายต้องไม่เปลี่ยนรวมไปถึงผลลัพธ์ด้วย มันคือโลจิกและการคอมมูนิเคชัน ส่วนเพิ่มเติมคือคณิตศาสตร์ แล้วค่อยฟิสิกส์ที่นำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะใช้มากในเกม3มิติ และอีกอย่าง ทฤษฎีกายภาพของคอมพิวเตอร์ก็มีส่วนสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบไปถึงตรรกะการคำนวณของคอมพิวเตอร์”พรพัฒน์กล่าว
นักเรียนพัฒนาเกมคนไทยแนะคนที่อยากจะเบนเข็มมาทางกราฟิกว่า พื้นฐานทางศิลปะมีความสำคัญมากกว่าคุณใช้โปรแกรมอะไรต่างๆเป็นอีก ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเริ่มจาก “เส้น” รวมกันเป็น “รูปทรง” และค่อยต่อมา “แสง, สี , เงา” จนทำให้มันมีดูแล้ว มี“มิติ”จากนั้นจึงใช้น้ำหนักที่ดี (เทคนิค)และจินตนาการเข้าไปเสริมให้ดูมีชีวิตชีวา ดูเป็นเรื่องราว แบบที่เขาชอบพูดกันว่า “มันมีจิตวิญญาณ”(หัวเราะ)
“สำหรับคนที่มีพรสวรรค์ผมก็ไม่รู้จะบอกอะไรดี เพราะพวกเขาคงจะพยายามใช้โปรแกรมต่างๆ ให้คล่องมืออยู่แล้ว อย่างเดียวที่พอจะบอกได้คือเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด งานของพวกเขาต้องมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง อย่าลืมว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ชอบวาดการ์ตูนลายเส้นไปทางญี่ปุ่นหมด และมันจะต่างอะไรกับเด็กญี่ปุ่นทั่วไปที่ลายเส้นแทบจะหาเอกลักษณ์กันไม่ได้ในปัจจุบัน หรือหากคิดอีกแบบ มันก็เหมือนกับว่าเราเล่าเรื่องนินจา ซามูไร กิโมโนอย่างภาคภูมิใจ ให้คนญี่ปุ่นฟังหน้าห้อง มันจะไม่รู้สึกบิเมียว (ประหลาด)ไปหรือ ลองคิดดู” พรพัฒน์พูดเชิงแนะนำให้กล้าทำอะไรที่แตกต่าง
“เท่าที่ลองคำนวณดู ผมเชื่อมั่นหากเราเตรียมการศึกษาทางด้านการพัฒนาเกมได้ดี ภายใน2ปีเราสามารถพัฒนาบุคลากรด้านนี้ได้มาตรฐานที่ดีกว่าญี่ปุ่นได้ แต่สิ่งที่ขาดก็คือประสบการณ์และเทคนิค”
น้องๆหรือผู้ที่สนใจจะสอบถามเพิ่มเติมจาก“นายพรพัฒน์ ปัญญา”ผู้เสี่ยงเดินตามฝันด้านการเรียนพัฒนาเกมในต่างแดนสามารถติดต่อเขาได้ที่ kengcapo@hotmail.com รับรองว่าจะได้ข้อมูลลึกๆในชีวิตการเป็นนักเรียนพัฒนาเกมที่ญี่ปุ่นแน่นอน แต่ก็ฝากบอกด้วยว่า "การมาศึกษาเรียนเกมที่นี่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีก็เป็นไปได้"
www.jec.ac.jp (เว็บไซต์โรงเรียนนิฮองเดนชิเซมมงกักโค)
“ผู้จัดการเกม” เปิดโครงการสนับสนุนกลุ่มพัฒนาเกมไทยที่อยากจะเผยแพร่ผลงานเกมและการถ่ายทอดความรู้ผ่านทางสื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอินดี้เล็กๆในกลุ่มหรือบริษัทพัฒนาเกมรายย่อยอื่นๆ ด้วยการเป็นกระบอกเสียงหนึ่งเพื่อช่วยอุตสาหกรรมเกมของคนไทยให้เติบโตไปในอนาคต สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2629-4488 ต่อ 1453 หรือ 1454 ในเวลา 14.00-18.00 น. วันจันทร์-ศุกร์