---คลิกชมภาพยนตร์ตัวอย่างเกม "Def Jam Icon" ได้ที่นี่---

ก่อนจะพูดถึงเกม "DEF JAM ICON" ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงเกมภาคก่อนหน้านี้ "FIGHT FOR NEW YORK" เล็กน้อย ในภาค "ไฟท์ ฟอร์ นิวยอร์ก" รูปแบบเกมจะเป็นไฟท์ติ้งกึ่งมวยปล้ำ ลักษณะของฉากจะเป็นแนวอันเดอร์กราวน์ที่เต็มไปด้วยเหล่าแร็พเปอร์ที่ยืมล้อมดูการต่อสู้ ซึ่งบางทีกลุ่มคนดูก็สามารถล็อคตัวละครให้อีกฝ่ายหนึ่งอัดได้ และที่เด่นแบบว่าทุกคนน่าจะจำได้คือภาคที่แล้วผู้เล่นสามารถหยิบอาวุธขึ้นมาเล่นงานฝ่ายตรงข้ามได้ ...แต่ในภาค "ไอคอน" รูปแบบหลายๆอย่างได้เปลี่ยนไป จากการดึงทีมผู้พัฒนาเกมชกมวย "ไฟท์ ไนท์" มาสร้างเกม ทำให้ภาค "ไอคอน" ฉาก , ระบบการบังคับ , เป้าหมายในการเล่น และกราฟิก ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก
อย่างแรกที่ขอพูดถึงคือเรื่องเป้าหมายในการเล่น ภาคไฟท์ ฟอร์ นิวยอร์ก ผู้เล่นจะเริ่มต้นจากการเป็นนักสู้ที่ไม่มีใครรู้จัก จากนั้นก็ต่อสู้เพื่อเรียกความศรัทธาให้กับตัวเอง ให้เป็นนักสู้อันดับหนึ่งในนิวยอร์ก แต่ในภาคไอคอนโหมดเนื้อเรื่องก็คือ "build a label" ผู้เล่นสามารถจะเริ่มต้นด้วยการสร้างตัวละครขึ้นมา จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจวงการเพลง และพยายามสร้างตัวเองให้เป็นเจ้าพ่อในวงการ ตลอดการเล่นในโหมดนี้จะได้พบกับเรื่องราวเล่ห์เหลี่ยม และการหักเหลี่ยมมากมาย การสร้างตัวเองให้เป็นเจ้าพ่อในวงการเกม ผู้เล่นจะต้องพบกับอุปสรรคจากค่ายเพลงฝ่ายตรงข้าม ที่จะส่งศิลปิน และลิ่วล้อมาคุกคาม
ในส่วนของธุรกิจเพลง ก่อนอื่นผู้เล่นต้องหาศิลปินเข้ามาอยู่ในสังกัด เมื่อได้มาแล้วก็ต้องบริหารใน 2 ส่วนหลักได้แก่ ความต้องการของศิลปิน และบริหารเพลงของศิลปิน ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกหักเปอร์เซ็นต์(ค่า Royalty หักได้สูงสุด 50 เปอร์เซ็นต์)รายได้จากศิลปินได้ด้วยเหมือนกัน ผู้เล่นจะต้องตอบสนองความต้องการหลายๆอย่างของศิลปินที่สร้างขึ้นมา อาทิ รถคันใหม่ , การลงทุนทำธุรกิจร่วมกัน ถ้าค่ายเพลงทำตามที่ศิลปินต้องการก็จะทำให้ศิลปินมีความสุข ซึ่งอาจจะทำให้ศิลปินเรียกร้องอะไรมากมายตามมาอีก หากว่าค่ายเพลงไม่ทำตามที่ศิลปินต้องการก็อาจจะทำให้ศิลปินเกิดความไม่พอใจ ส่งผลเสียต่อการทำงานเพลง หรืออาจจะทำให้ศิลปินไม่ต่อสัญญาทำเพลงชุดต่อไปออกมา ...การบริหารเพลงของศิลปินทำได้ 4 วิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีจะต้องใช้เงิน(มากสุดเพลงละ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ)ได้แก่ ทำของที่ระลึก , งานด้านประชาสัมพันธ์ศิลปิน , งานด้านการตลาด และ เช่าเวลาการเผยแพร่เพลง หลังจากเพลงออกเผยแพร่แล้ว สิ่งที่ผู้เล่นต้องลุ้นก็คือเพลงจะขึ้นชาร์ทหรือไม่ และยอดขายของเกมจะออกมาเป็นอย่างไร ยอดขายของเพลงแบ่งออกเป็น 3 ระดับได้แก่ โกลด์ , แพลตตินัม , และมัลติแพลตตินัม ผู้เล่นจำเป็นจะต้องทำยอดขายเพลงให้ได้สูงๆเพื่อปลดล็อคเพลงใหม่ๆ หรือพัฒนาทักษะการต่อสู้ของตัวละคร
ฉากเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อเทียบกับภาคก่อนหน้านี้ "DEF JAM ICON" จะมีฉากหลากหลายรูปแบบ อาทิ ปั้มแก๊ซ , ไนท์คลับ , ลานหน้าบ้าน และ ดาดฟ้า จุดเด่นที่สุดในส่วนของฉากคือระบบอินเตอร์แอคทีฟ ฉากทุกฉากในภาคไอคอน จะสามารถทำลายตัวเองได้ ยกตัวอย่าง ลำโพงที่อยู่บริเวณมุมห้อง สามารถปลดปล่อยพลังคลื่นเสียงที่รุนแรงออกมาได้เอง ซึ่งถ้าหากตัวละครไปยืนอยู่ใกล้ลำโพง ก็อาจจะได้รับความเสียหายได้ ซึ่งระบบฉากอินเตอร์แอคทีฟตรงนี้ มีส่วนชี้เป็นชี้ตายในชัยชนะของผู้เล่นด้วยเช่นกัน เทคนิคที่สำคัญในการเล่นเกมนี้ ก็คือการจับทุ่ม จับคู่ต่อสู้แล้วโยนไปในบริเวณที่ฉากสามารถอินเตอร์แอคทีฟได้ เมื่อโยนไปแล้วฉากอาจจะอินเตอร์แอคทีฟเองแต่ถ้าไม่ ผู้เล่นต้องทำให้ฉากอินเตอร์แอคทีฟด้วยการกดการสแคลชเทินเทเบิ้ล กดปุ่ม LT แล้วหมุนอนาล็อคขวา ไปทางขวา 1 รอบ ศัตรูที่นอนอยู่บริเวณนั้นก็จะกระเด็นลอยละลิ่วไปไกล การสแคลชเทินเทเบิ้ลสามารถเปลี่ยนเพลงประกอบเกมได้ด้วยเช่นกัน เมื่อเพลงที่เปิดเป็นเพลงของเรา โมเมนตัม รวมถึงแรงอัดต่างๆจะมาอยู่กับฝ่ายเจ้าของเพลง ซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์ชนะมีสูงขึ้น
ระบบการบังคับในภาค ICON เป็นผลผลิตจากทีมผู้สร้างเกมชกมวย "ไฟท์ ไนท์" ซึ่งเน้นการใช้อนาล็อคขวาในการต่อสู้ ผมเล่นเกมนี้บนเครื่อง Xbox360 ปุ่ม X และ A จะใช้สำหรับการอัดแบบเร็ว , ปุ่ม Y และ B จะใช้สำหรับอัดแบบหนัก , ปุ่ม RT ถ้ากดค้างพร้อมกับดันอนาล็อคขวาขึ้นลงจะเป็นการบล็อค(สามารถใช้สำหรับปลดพันธนาการจากการล็อคของฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย) , ปุ่ม RB และ LB ใช้สำหรับหยอกล้อฝ่ายตรงข้าม(ถ้ามีเวลาควรจะทำบ้างเพราะมีผลต่อโมเมนตัม) , ปุ่ม LT ใช้สำหรับสแคลชแผ่น และอนาล็อคขวาจะใช้ทำได้หลายอย่าง ถ้าดันอนาล็อคขวาขึ้นด้านบนจะเป็นการจับล็อคคู่ต่อสู้เพื่อทุ่มหรืออัดต่อ แต่ถ้าบังคับในทิศทางอื่นจะเป็นการโจมตีซึ่งมีอานุภาพรุนแรงกว่าการโจมตีด้วยปุ่ม Y หรือ B การบังคับอนาล็อคขวาเพื่อโจมตี จะเป็นการบังคับในลักษณะครึ่งวงกลม ถ้าขยับในทิศทางครึ่งวงกลมล่างจะเป็นการโจมตีด้านล่าง ถ้าขยับครึ่งวงกลมด้านบนจะเป็นการโจมตีด้านบนของคู่ต่อสู้ ระบบการบังคับและการอัดกันของเกมนี้มีความสมดุลที่น่าสนใจ ผู้เล่นจะมัวแต่เพียงปุ่มอัดหนักอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะถูกตัดจังหวะด้วยการอัดแบบเร็ว ซึ่งจะออกอาวุธได้ไว บ่อยครั้งที่การอัดแบบไว นำไปสู่การจับทุ่มโยนคู่ต่อสู้ไปให้ฉากแบบอินเตอร์แอคทีฟเล่นงาน ถ้าอัดเร็วหรืออัดหนักเข้ามาแล้วเจอบล็อคหรือรีเวิร์สก็แย่ได้เหมือนกัน
ตัวละครหลักในเกมนี้ยังคงเป็นเหล่าแร็พเปอร์ชื่อดัง อาทิ Big Boi, Bun B, E-40, The Game, Ghostface Killah, Jim Jones, Lil Jon, Ludacris, Method Man, Mike Jones, Paul Wall, Redman, Sean Paul, Sticky Fingaz, T.I. และ Young Jeezy นอกจากตัวละครข้างต้นแล้ว ผู้เล่นยังสามารถสร้างตัวละครได้เองอีกด้วย ตั้งแต่การกำหนดโครงหน้า , ทรงผม หรือรายละเอียดอื่นๆ เสื้อผ้า และเครื่องประดับก็มีให้เลือกมากมายนับไม่ถ้วน
ในส่วนของกราฟิกทำได้ดีมากโดยเฉพาะตัวละครที่เหมือนกับตัวจริง ส่วนฉากก็ทำได้อย่างดี โดยเฉพาะเวลาที่ฉากถูกทำลาย การอินเตอร์แอคทีฟ เช่น ลำโพงที่กระแทกเสียงออกมาทำให้ผู้เล่นปลิวออกมานั้นสังเกตได้ชัดเจนมาก เมื่อการต่อสู้ดำเนินไปเรื่อยๆมีการเสียเลือดกันมาก ถ้าฝ่ายใดฝ่ายนึงเสียเลือดมากๆ ใกล้ตาย สีสันของจอภาพก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สีจะคอนทราสต์มากขึ้น ดูเท่ไปอีกแบบ แต่ถ้าเล่นนานๆ อาจจะทำให้เบลอได้เหมือนกัน ในส่วนของเสียงเพลงก็ถือเป็นจุดเด่นของภาคไอคอน เช่นกัน เสียงเอฟเฟคการทำลายของฉากทำได้อย่างดี และเสียงเพลงประกอบเกมล้วนแต่เป็นเพลงฮิพฮอพจากศิลปินชื่อดังแทบทั้งสิ้น ซึ่งทุกเพลงไม่มีการเซ็นเซอร์
DEF JAM ICON เป็นเกมตัวแรกในซีรีย์ เดฟ แจมที่ลงให้กับเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่ หลังจากเล่นอยู่นาน ผมมีความรู้สึกอิ่มกับเกมนี้ จากตัวละครที่ล้วนเป็นแร็พเปอร์ชื่อดังแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้นเพลงประกอบเกมดูจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้การเล่นดูสนุกขึ้น จังหวะเสียงเพลงต่างๆมีส่วนช่วยให้ผู้เล่นรู้สึกมีส่วนร่วมกับเกม ฉากอินเตอร์แอคทีฟเป็นสิ่งที่ผู้เล่นต้องคำนึงมากที่สุด คำนึงไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในบริเวณนั้น และพยายามโยนศัตรูไปอยู่บริเวณนั้นให้ได้ ถ้าจะให้แนะนำเกมไฟท์ติ้งแปลกแหวกแนวสักตัว เดฟ แจม ไอคอน คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ
คะแนนการเล่น | 7.5 |
กราฟิก | 8 |
เสียง | 8 |
ความคิดสร้างสรรค์ | 7.5 |
ความคุ้มค่า | เป็นไฟท์ติ้งแหวกแนวที่น่าสน |
ภาพรวม | 8 |
by...bireley