ท่ามกลางกระแสการ์ตูนนักสู้ชุดเกราะแบบเป็นทีมเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน มีเกมๆหนึ่งที่ใช้กระแสนี้สร้างความนิยมติดลมบนด้วยรูปแบบการเล่นที่สนุกและแหวกแนวไม่ซ้ำใคร ชื่อของเกมนั้นคือ "Hiryu no Ken" หมัดมังกรบิน
เกมชุด Hiryu no Ken ถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกบนเกมตู้ในปี 1985 มีลักษณะเป็นเกมต่อสู้ตัวต่อตัว แต่เมื่อถูกแปลงมาลงเครื่องฟามิคอมโดยฝีมือของค่าย Culture Brain ก็ได้เพิ่มการเดินตะลุยด่านเข้าไปด้วย และเมื่อเกมนี้ออกภาค 2 บนเครื่องฟามิคอมโดยปรับปรุงระบบหลายๆอย่าง แถมด้วยพล็อตเรื่องและตัวละครที่เข้มข้นเข้าไปก็ได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีภาคต่อตามออกมามากมายบนหลายๆเครื่องเล่น
สำหรับวันนี้ทางผู้จัดการเกมขอเลือกเอาภาคที่สร้างกระแสให้กับเกมชุดนี้มากที่สุดคือภาค 2 Hiryu no Ken II: Dragon noTsubasa (ปีกแห่งมังกร) มาพูดถึงกัน ซึ่งในยุคนั้นคนไทยหลายคนจะรู้จักเกมนี้ในชื่อ Dragon Fist หรือหมัดมังกรบิน
ตำนานของเกมเริ่มจากการออกอาละวาดบนพื้นดินของจอมมารและลูกสมุน จนเดือดร้อนถึงขุนพลมังกรฟ้าต้องลงมาผนึกมันไว้ แต่จอมมารก็ได้ทิ้งคำพูดสุดท้ายไว้ว่าจะกลับคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ขุนพลมังกรฟ้าจึงเตรียมรับมือด้วยการส่ง 5 นักรบมังกรลงมาจุติบนโลกมนุษย์ หนึ่งในนั้นคือ "ริวฮิ" ตัวเอกของเกมภาคแรกที่ฝึกฝนอยู่ที่วัดเส้าหลิน เมื่อเขาได้ทราบถึงภารกิจนี้ เขาจึงได้ออกเดินทางตามหานักรบมังกรที่เหลืออยู่อีก 4 คน "หมิงหมิง","ฮายาโตะ","ไวเลอร์",โชริว" และรวบรวม "มันดาระ" มนตราที่จะผนึกจอมมารกลับสู่ความมืดอีกครั้ง
เมื่อเริ่มเกมจะมี 4 ตัวเลือกคือโหมดแอคชั่นที่เป็นส่วนหลักของเกม มีความยาก 2 ระดับ โหมดอนิเมชั่น RPG สำหรับคนที่อยากเล่นสบายๆแบบดูเนื้อเรื่อง โหมด VS ทัวร์นาเมนท์เป็นการต่อสู้อย่างเดียวสามารถเล่น 2 คนได้ และสุดท้ายคือพาสเวิร์ดที่ใช้ในการเล่นแบบเนื้อเรื่อง ส่วนตัวเลือก 3 อันด้านล่างคือความเร็วของบทสนทนา ช้า ปานกลาง เร็ว ตามลำดับ
ระบบของที่เด่นที่สุดของเกมนี้คือการต่อสู้แบบตัวต่อตัว ที่ไม่ใช่การอัดตะลุมบอนตามใจชอบแต่ต้องอาศัยการชิงจังหวะ โดยในการต่อสู้ทั้งฝ่ายผู้เล่นและศัตรูจะมีเครื่องหมายขึ้นตามตัวเป็นส่วนๆ บน-กลาง-ล่าง ซึ่งผู้เล่นต้องกดปุ่มให้ถูกจุดเพื่อป้องกันและโจมตี อย่างเช่นเมื่อศัตรูมีเครื่องหมายขึ้นส่วนล่างก็ต้องกด ล่าง+โจมตี หรือเมื่อฝ่ายผู้เล่นมีเครื่องหมายขึ้นที่ส่วนหัวก็ต้องกดบนเพื่อตั้งรับ เป็นต้น ส่วนคนที่ไม่ถนัดการต่อสู้เกมก็สามารถเลือกแบบ RPG ที่ใช้วิธีใส่คำสั่งง่ายๆแทน
ในการต่อสู้แบบตัวต่อตัวนี้ มีลูกเล่นให้ใช้มากมายนอกจากเตะต่อย อย่างการตั้งรับหมัดของศัตรูแล้วจับทุ่ม ปล่อยลูกพลังที่การ์ดไม่ได้ หรือหลบหลีกด้วยการกระโดด แต่ที่เป็นจุดเด่นคือค่าพลัง KO ที่เมื่อสะสมครบจะใช้ท่าไม้ตายได้ด้วยการกด 2 ปุ่มพร้อมกัน และถ้าศัตรูเป็นพวกปีศาจผู้เล่นจะสามารถ "แปลงร่าง" สวมเกราะซึ่งจะมีท่าพิเศษเพิ่มขึ้นมาให้ใช้ได้ แถมยังป้องกันคาถาของฝ่ายศัตรูได้ด้วย อันเป็นเอกลักษณ์ของเกมนี้ที่หลายๆท่านคงยังจำได้ดี
การเล่นอีกส่วนหนึ่งของเกมคือการเดินลุย ซึ่งผู้เล่นต้องสำรวจฉากและสู้กับศัตรูเพื่อตามหา"มันดาระ"ที่ต้องใช้ในการผนึกจอมมาร บางครั้งต้องตามหาไอเทมที่ใช้เปิดทางไปต่อ เดินหาเนื้อเรื่อง คำบอกใบ้ รวมถึงอาวุธวิเศษต่างๆที่จะทำให้ตัวเอกมีท่าพิเศษเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเจอศัตรูระดับบอสก็จะตัดไปสู่การต่อสู้แบบตัวต่อตัว ทำให้เกมสามารถเล่นได้สนุกไม่ซ้ำซาก
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเกมคือเนื้อเรื่องตั้งแต่ตัวเอกเริ่มออกเดินทางเพื่อตามหาความจริง จากตอนแรกที่ยังเป็นคนธรรมดาแล้วแปลงร่างได้เมื่อต้องสู้กับลูกสมุนของจอมมาร จากนั้นก็ออกตามหาพรรคพวกทีละคน เข้าร่วมงานประลองยุทธ ไขปริศนา จนถึงประตูโลกปีศาจที่จะเปิดต่อเมื่อรวบรวม "มันดาระ"มาได้ครบ ตามมาด้วยฉากการสู้กับจอมมารขนาดยักษ์ที่ทำออกมาได้อลังการมาก ซึ่งทั้งหมดมีความสนุก เข้มข้น ราวกับการ์ตูนเรื่องหนึ่ง จนเป็นที่ประทับใจของนักเล่นหลายๆคนในยุคนั้น
นอกจากเนื้อเรื่องที่หนักแน่นแล้ว เกมยังเน้นในส่วนของศิลปะการต่อสู้มากพอสมควร โดยระหว่างโหมดปกติและโหมด VS จะมีนักสู้หลายๆแขนงออกมาประลองกับตัวเอก หรือผู้เล่นจะเอานักสู้เหล่านั้นมาใช้เองในโหมด VS ก็ยังได้ ไม่ว่าจะเป็น มวยจีน มวยสากล มาร์เชียลอาร์ต มวยปล้ำ คาราเต้ และที่น่าภูมิใจก็คือมีมวยไทยของเราด้วย (ระหว่างเนื้อเรื่องมีนักมวยไทยชื่อศรรามออกมาประลองกับตัวเอกด้วย) ซึ่งในส่วนนี้ถูกนำไปสร้างเป็นเกมภาคพิเศษออกมาในภายหลัง
ภาพรวมๆของเกมจัดว่ายากพอสมควร โดยเฉพาะฉากเดินลุยที่ศัตรูออกมาเร็วแบบไม่มีหมด แถมแค่สะกิดโดนเราก็พลังลดแล้ว การกระโดดก็ค่อนข้างยากพอสมควรและในบางจุดมีการตกเหวตายด้วย ส่วนการต่อสู้ตัวต่อตัวนับว่าทำมาได้พอดีและค่อยๆยากขึ้นในช่วงท้าย แต่ถ้าลองเล่นแบบโหดแต่แรกก็เขี้ยวไม่ใช่เล่นเหมือนกัน
ทางด้านกราฟิก เกมมีความหลากหลายทั้งตัวละครและฉากพอสมควร โดยเฉพาะฉากแปลงร่างทำออกมาได้น่าประทับใจมาก แต่ช่วงท้ายๆก็มีการเอาของเดิมมาเปลี่ยนสีบ้างเล็กน้อย ส่วนดนตรีประกอบนับได้ว่ายอดเยี่ยม เพลงเปิดทำออกมาได้น่าจดจำและมีการนำไปเปลี่ยนจังหวะใช้ประกอบฉากอื่นๆได้เป็นอย่างดี เพลงในส่วนอื่นๆก็ทำออกมาได้เข้ากับตัวเกม
สำหรับภาคภาษาอังกฤษของเกมชุดนี้บนเครื่องฟามิคอมในภาคแรกใช้ชื่อว่า Flying Dragon ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการดัดแปลงซะจนแทบไม่เหลือซากเดิม โดยเปลี่ยนชื่อเป็น Flying Warriors แถมยังเปลี่ยนจากการแปลงร่างใส่เกราะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่สไตล์อเมริกาซะยังงั้น (ดังรูป)
หลังจากประสบความสำเร็จกับภาคนี้ ก็ได้มีภาค 3 ตามออกมาใช้ชื่อว่า Hiryu no Ken III: 5 Nin no Ryusenshi (ห้านักรบมังกร) และภาคพิเศษ Hiryu no Ken Special: Fighting Wars ที่เน้นไปที่การต่อสู้อย่างเดียว ตามมาด้วยภาคเกมบอยและซุปเปอร์ฟามิคอมอีกมากมายหลายเวอร์ชั่น โดยเริ่มเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใช้ตัวละครเป็น SD และในยุคหลังก็มาทำเป็นเกมไฟติ้ง 3 มิติตามกระแสนิยม จนกระทั่งเกมชุดนี้เริ่มเงียบหายไปพร้อมๆกับบริษัทผู้ผลิต
ปัจจุบันบริษัท Culture Brain (Official Site) ยังคงอยู่และเน้นการผลิตไปที่เกมบอยแอดวานซ์เป็นหลัก และได้ประกาศนำเกมชุด Hiryu no Ken มาลงเกมบอยแอดวานซ์อีกครั้งในชื่อว่า Hiryu no Ken I+II Plus โดยมีกำหนดออกคร่าวๆภายในปีนี้
แม้ปัจจุบันทั้งเกมและบริษัทเกือบจะหายสาบสูญไปจากวงการแล้ว แต่เชื่อว่าถ้าใครเคยได้สัมผัสเกมชุด "หมัดมังกรบิน" นี้จะต้องนึกถึงระบบการต่อสู้ที่สนุกสนาน เนื้อเรื่องเข้มข้น ตัวละครแปลงร่างใส่เกราะสุดเท่ห์ แถมด้วยดนตรีประกอบที่ไพเราะติดหู อยู่ในความทรงจำอันน่าประทับใจอย่างแน่นอน
รายชื่อเกมชุด Hiryu no Ken ที่เคยออกมาทั้งหมด
1. Hokuha Syourin Hiryu no Ken (Arcade)
2. Hiryu no Ken - Ougi no Sho (Famicom - NES)
3. Hiryu no Ken II - Dragon no Tsubasa (Famicom - NES)
4. Hiryu no Ken III - 5 Nin no Ryuu Senshi (Famicom - NES)
5. Hiryu no Ken Gaiden (GB)
6. Hiryu no Ken Special - Fighting Wars (Famicom - NES)
7. Hiryu no Ken S - Golden Fighter (Super Famicom - SNES)
8. Hiryu no Ken S - Hyper Version (Super Famicom - SNES)
9. SD Hiryu no Ken (Super Famicom - SNES)
10. SD Hiryu no Ken Gaiden (GBC)
11. SD Hiryu no Ken Gaiden 2 (GBC)
12. Virtual Hiyru no Ken (PS)
13. Hiryu No Ken Twin (N64)
14. SD Hiryu no Ken EX (GBC)
15. Hiryu no Ken Retsuden (GBC)
16. Hiryu no Ken I+II Plus (GBA) - กำหนดวางขายภายในปี 2006