หลังจากที่นำเสนอข่าวเกมใหม่แจกฟรี “CEO CITY”จากบริษัทไทยไซเบอร์แพลนเน็ตกันมาก่อนหน้านี้เล็กน้อย “ผู้จัดการเกม” เลยหาโอกาสไปสนทนากับทีมพัฒนาเกมและผู้ดูแลโครงการเกมเพื่อชีวิตกันถึงรังผลิตเกม เพื่อนำข้อมูลเกมมาเผยแพร่ต่อผู้ที่สนใจเกมดีมีประโยชน์ของคนไทยกันแบบเจาะลึกก่อนจะถึงกำหนดออกปลายปี
นายไกรภพ แพ่งสภา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ กล่าวว่า ตอนนี้เราผลิตเกมร่วมกับรัฐบาล 3 โครงการ คือ มูนทราคิดส์ เกมต้านเรื่องยาเสพย์ติด , CEO CITY ซึ่งตอนนี้ชื่อเกมได้เปลี่ยนชื่อจาก “ผู้ว่า CEO” มาเป็น “CEO CITY” อย่างเป็นทางการ และเกมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทย สำหรับมูนทราคิดส์นั้นใกล้ที่จะจบโครงการแล้ว ขาดอีก 1 โรงเรียน จากทั้งหมด 99 โรงเรียน ทั้งนี้โครงการทั้งหมดผู้สนับสนุนโครงการก็ยังเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA และบริษัทไมโครซอฟต์
สำหรับเกม CEO CITY จะเป็นการเล่นแบบคนเดียว ไม่สามารถเล่น LAN กับคนอื่นๆได้ โดยเหตุผลที่ไม่ทำฟีเจอร์นี้ด้วยเนื่องจากต้องการที่จะแจกเกมออกไปจำนวน 200,000 แผ่น คนที่ได้ไปอาจจะมีสเปคเครื่องที่ไม่สูงพอที่จะรองรับ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ ไม่มีการ์ดจอ 3 มิติ หรือระบบ LAN ในการเล่นกับคนอื่น
นายสมชาย แสงทอง ซีเนียร์โปรแกรมเมอร์บริษัทแพลนเน็ตจี โปรแกรมเมอร์ผู้ดูแลโปรเจคเกมโมเดลเกม “CEO CITY” ให้ข้อมูลว่า ภาพกราฟิกที่ทำขึ้นทุกอย่างจะเป็น 3 มิติ แต่ตัวเอ็นจิ้นที่เราใช้จะเรนเดอร์ภาพเป็น 2 มิติเรียกว่า “ไอโซเมทริค” เพื่อให้เครื่องที่สเปคไม่สูงเล่นได้กันทั่วถึง
“อย่างเกมมูนทราคิดส์ที่มีเกมทั้งหมด 4 เกมในนั้น มีเกมที่เป็น 3มิติ คือ Buggy ก็มีเสียงตอบกลับมาว่าเล่นเกมนี้ไม่ได้เพราะไม่มีการ์ด 3 มิติเพื่อแสดงผล เราเลยเห็นว่าเกมที่เป็น 3 มิติยังเป็นปัญหาสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในเมืองไทย แต่ในอนาคตเชื่อว่าคงมีการเปลี่ยนแปลง ในปีหน้าอาจจะเป็น 3 มิติ และโหมดออนไลน์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราอยากทำเป็น 3 มิติเหมือนกัน อาจจะเป็นภาค 2 ในปีหน้า” นายไกรภพกล่าวเสริม
นายสมชาย กล่าวต่อว่า “CEO CITY” จะมีทั้งหมด 12 จังหวัด แยกตามภาคๆละ 2 จังหวัด โดยเราจะเลือกจังหวัดเด่นๆและมีสินค้า OTOP ดังๆอย่างใน ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และจ.นครราชสีมา ภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และจ.ชลบุรี ภาคใต้ จ.สงขลา และจ.กระบี่ ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี และจ.เพชรบุรี โดยแต่ละจังหวัดจะมีลูกเล่นในการสร้างยูนิตแตกต่างกันออกไป
“บางจังหวัดที่ไม่อยู่ในเกมนี้ อย่าเพิ่งไปน้อยใจอะไร เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะมีจุดเด่นเยอะมากที่เราจะต้องมาทำเป็น 3 มิติ ฉะนั้นมันก็จะกินเวลานานออกไปอีก เราจึงต้องเลือกจังหวัดที่มีสินค้าOTOP เด่นๆก่อน ต่อไปค่อยเพิ่มจังหวัดอื่นๆเข้ามาทีหลังได้”นายไกรภพกล่าว
หัวหน้าทีมพัฒนาบรรยายเกี่ยวตัวเกมว่า เริ่มต้นเราจะได้รับเงินทุนในการพัฒนาจังหวัดก้อนหนึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร และจะต้องผันตามระดับที่เราเลือกมาเล่นด้วย สำหรับยูนิตในการสร้างหลัก อย่างแรกก็จะเป็นพวกสิ่วก่อสร้างสาธารณูปโภค สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงเรียน มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างมาตรฐานที่ทุกจังหวัดต้องมี สิ่งก่อสร้างในการสร้างอาหาร สิ่งก่อสร้างในการสร้างเครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ และสิ่งก่อสร้างพวกต้นไม้หรือถนน
ส่วนที่เป็นสิ่งก่อสร้างในการสร้างงานพวก OTOP ก็จะแยกออกไปตามแต่ละจังหวัด อย่าง จ.เชียงใหม่จะมีพวกศิลปหัตถกรรม เช่น ไม้แกะสลัก ก็จะกำหนดให้มีเฉพาะจังหวัดนั้น ถ้าเป็นจังหวัดกระบี่ จะมีผ้าบาติก โดยจะมีรายละเอียดสินค้าเล็กๆน้อยๆบอกไว้ในเกม ทั้งนี้ ผู้ว่า CEO จะต้องสร้างสมดุลในเมืองให้เกิดขึ้น การกระจายตัวของสิ่งก่อสร้างไม่ควรมากเกินหรือน้อยเกินไป ถ้ามีมากเกินไปไปคนที่จะมำผลิตสินค้าจะไม่พอ แถมยังจะก่อให้เกิดมลภาวะอีกด้วย
สภาพภูมิประเทศในแต่ละจังหวัดจะค่อนข้างเหมือนจริง อย่างจังหวัดไหนที่มีทะเลก็จะมีส่วนที่เป็นทะเล หรือจ.กาญจนบุรีก็จะมีสะพานข้ามแม่น้ำแคว ในการสร้างยูนิตลงในพื้นที่จะต้องดูว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับยูนิตนั้นๆหรือไม่ด้วย ด้านรายได้ระหว่างบริหารนั้นมาจากผลกำไรของการผลิตสินค้าออกจำหน่าย จะมีฤดูกาลเข้ามามีผลต่อการผลิต ซึ่งแต่ละภาคระยะเวลาของฤดูกาลจะไม่เท่ากัน
ด้านระยะเวลาในการเล่นถ้าเทียบกับการเวลาเล่นจริง ในเกมแบบเร็วสูงสุดจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที โหมดธรรมดาจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนโหมดช้าสุดจะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 40 นาที ห่างกันแบบละ 1 เท่าตัว ส่วนเทคนิคการปรับก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะเร่งหรือผ่อนเกมในช่วงไหน ถ้านำไปเปรียบเทียบเกม “เมจิคโครนิเคิล” เกมแรกของบริษัทจะค่อนข้างแตกต่างกันเยอะ CEO CITY ภาพจะเป็นภาพแบบไอโซเมทริคจริงๆ ส่วนเมจิคโครนิเคิลจะเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เพียงแต่ว่าเราเล่นจะมองดูเหมือนไอโซเมทริค
ส่วนค่าเงินในเกมเราไม่กำหนดชัดเจนว่าจะใช้ค่าเงินจริงหรือค่าเงินสมมุติขึ้นมา เมื่อผู้เล่น เล่นครบ 4 ปีแล้วจะมีเควสขึ้นมาวัดระดับความพอใจของประชากร ถ้ามีความพอใจมากกว่าค่าๆหนึ่ง เกมจะถามว่าสนใจที่จะบริหารต่อไปหรือไม่ ถ้าสนใจก็จะให้พัฒนาเมืองต่อไปอีก แต่ถ้าเล่นแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็จะถูกปลดจากตำแหน่ง
นายไกรภพ เผยข้อมูลอีกว่า เกมนี้ใช้เวลาทำมาประมาณ 2 เดือนกว่าๆแล้ว สาเหตุที่เราพัฒนาได้เร็วก็เนื่องจากเรามีตัวเอ็นจิ้นที่พัฒนามาเอง ช่วยทำให้พอร์ทเป็นโค้ดออกมาได้เร็ว ด้านภาพกราฟิกเสร็จไปเกือบ 100 % แต่ถ้าคิดเป็นภาพรวมแล้วก็เสร็จไปประมาณ 70 % และมีกำหนดออกมาให้เล่นกันประมาณเดือนพฤศจิกายน เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กในระดับมหาวิทยาลัย