จากความร่วมมือระหว่างสปสช. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2565 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้พบว่ายังมีประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับบริการฉีดวัคซีนฯ สปสช. จึงได้ขยายเวลาบริการฉีดวัคซีนฯ เพิ่มเติมออกไปอีก 1 เดือน คือตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ก.ย. 65
วันนี้ (7 ก.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสปสช. ขยายเวลาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี 7 กลุ่มเสี่ยง ถึง 30 ก.ย. นี้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
จากความร่วมมือระหว่างสปสช. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2565 ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 นั้น ขณะนี้พบว่ายังมีประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับบริการฉีดวัคซีนฯ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการวัคซีนฯ และได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึงสปสช. จึงได้ขยายเวลาบริการฉีดวัคซีนฯ เพิ่มเติมออกไปอีก 1 เดือน คือตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2565
ประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง หรือมีคนในครอบครัวที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ สปสช. ขอเชิญชวนให้มารับบริการฉีดวัคซีนฯ โดยเร็ว ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ ตามที่ สปสช. ขยายเวลารับบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่มีประโยชน์อย่างมากในการลดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต ช่วยลดภาวะเสี่ยงที่ป้องกันได้
สำหรับข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ณ วันที่ 1 กันยายน 2565 มีประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงรับบริการฉีดวัคซีนฯ แล้วจำนวน 3,426,146 ราย จากเป้าหมายบริการ 4,100,801 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.55 โดยมีหน่วยบริการทั่วประเทศร่วมให้บริการกว่า 7,000 แห่ง ขณะนี้เหลือวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ อีกเพียง 674,655 โดสเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ได้แก่
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)
2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน
3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
6.โรคอ้วน (น้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. พิมพ์ @nhso สอบถามข้อมูล
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข