จากกรณีที่มีการบอกต่อในเรื่องอาการเตือนการติดเชื้อโควิด 19 แบบวันต่อวันจากกระทรวงสาธารณสุข ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่าเป็นการนำข่าวปลอมเดิมกลับมาปรับแต่งแล้วแชร์ใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันการระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน
วันนี้ (4 ก.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นอาการเตือนการติดเชื้อโควิด 19 แบบวันต่อวันจากกระทรวงสาธารณสุข ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการโพสต์และแชร์ข้อความถึงอาการเตือนของการติดเชื้อโควิด 19 แบบวันต่อวัน และมีการระบุถึงสายพันธุ์ B.1.1.7 พร้อมกล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวสรุปจากกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบแล้วชี้แจงว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบว่าสายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งก็คือ สายพันธุ์อัลฟาที่เคยระบาดในประเทศไทยเมื่อปี 2564 เป็นการนำข่าวปลอมเดิมกลับมาปรับแต่งแล้วแชร์ใหม่ ขอให้กับประชาชนอย่าหลงเชื่อและควรตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก
โดยการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธ์อื่น ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ทำให้อาจติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเข้มการป้องกันโควิด 19 ตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ หากต้องพบผู้อื่นให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยง ตรวจ ATK ทันที เมื่อมีอาการป่วย และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้ครบ 3 เข็ม และฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดการป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป ขอให้ไปรับการฉีดเข็มกระตุ้น ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.moph.go.th หรือโทร 02-590-1000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นการนำข่าวปลอมเดิมกลับมาปรับแต่งแล้วแชร์ใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันการระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข