xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวจริง! สธ. มีแนวทางให้รพ. รับผู้เข้าข่ายโรคฝีดาษลิงแอดมิทเป็นผู้ป่วยใน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากพบผู้ที่มีประวัติต้องสงสัย และมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง เมื่อมาตรวจรักษาที่สถานพยาบาล ขอให้รับตัวผู้เข้าข่ายทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (แอดมิท) ก่อน ในระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อยืนยันผลแล้ว อาจให้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาล หรือรักษาตัวในรูปแบบ Home isolation ได้

วันนี้ (2 ส.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสธ. มีแนวทางให้รพ. รับผู้เข้าข่ายโรคฝีดาษลิงแอดมิทเป็นผู้ป่วยใน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

กรมการแพทย์ได้สื่อสารทำความเข้าใจกับแพทย์ทั่วประเทศ ในกรณีหากพบผู้ที่มีประวัติสงสัย และอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง เมื่อมาตรวจรักษาที่สถานพยาบาล ขอให้รับตัวผู้เข้าข่ายทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (แอดมิท) ก่อน ในระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อยืนยันผลแล้ว อาจให้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาล หากมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อน หรือรักษาตัวในรูปแบบ Home isolation ได้ เนื่องจากตามข้อมูลโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยาที่เตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในตอนนี้ เป็นยาที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นการเตรียมตัวกรณีพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมียาทั้งรูปแบบยารับประทาน และยาฉีด ส่วนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการนำวัคซีนมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิงเหมือนโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไป ที่บางกรณีอาจพบอาการรุนแรงได้ ซึ่งอาจมีภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด และผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากเป็นการติดเชื้อในผู้ที่แข็งแรง จะไม่ส่งผลให้ตัวเชื้อมีความรุนแรง เพียงแต่มีภาวะที่เห็นรอยตุ่มแผลตามร่างกาย และโรคฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสที่ผู้ป่วยสามารถหายเองได้

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.dms.go.th/ หรือโทร 0-2590-6000

หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น