xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! นายกฯ รับเงินค่าเป็นกรรมการอิสระของ ปตท. เดือนละ 2,800,000 บาท เป็นต้นเหตุทำให้น้ำมันแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีมีการเผยแพร่ว่านายกฯ รับเงินค่าเป็นกรรมการอิสระของ ปตท. เดือนละ 2,800,000 บาท เป็นต้นเหตุทำให้น้ำมันแพง ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลที่อ้างถึงไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เนื่องจากนายกฯ ไม่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการของ ปตท. และสำหรับในเรื่องของน้ำมันแพงนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนและยังมีราคาสูงทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเลวร้ายลงจากช่วงต้นปี 2565

วันนี้ (4 ก.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ในสื่อโซเชียลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนายกฯ รับเงินค่าเป็นกรรมการอิสระของ ปตท. เดือนละ 2,800,000 บาท เป็นต้นเหตุทำให้น้ำมันแพง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการบอกต่อข้อมูลโดยระบุว่า ต้นเหตุน้ำมันแพง นายกฯ เป็นกรรมการอิสระของ ปตท. รับเงินเดือน ๆ ละ 2,800,000 บาท ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลที่อ้างถึงไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เนื่องจากนายกฯ ไม่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการของ ปตท. ซึ่งรายชื่อบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่คณะกรรมการของ ปตท. เป็นข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ และรายงานประจำปี โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส (ข้อมูลอ้างอิง : https://www.pttplc.com/th/About/Our-Organization/Board-Of-Director.aspx)

สำหรับในเรื่องของน้ำมันแพงนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนและยังมีราคาสูง อาทิ ปัจจัยจากการเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ตั้งแต่ 22 ก.พ. ทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเลวร้ายลงจากช่วงต้นปี 2565 นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน อธิบายว่าในราคาน้ำมันแต่ละลิตรที่สถานีบริการน้ำมันมีองค์ประกอบใหญ่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ราคาหน้าโรงกลั่น เป็นส่วนที่ผู้ประกอบการโรงกลั่นจะได้รับเงินส่วนนี้ไป โดยไทยจะอ้างอิงจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามตลาดสิงคโปร์เนื่องจากเป็นตลาดกลางในภูมิภาคนี้ คิดจากต้นทุนเนื้อน้ำมันดิบ บวกกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงกลั่น เช่น ค่าการกลั่น ต้นทุนค่าขนส่ง เป็นต้น
2. ภาษีต่าง ๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มเติมจากราคาน้ำมัน เพื่อไปใช้เป็นรายได้แผ่นดิน ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นอกจากนี้ ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีกส่วนที่คิดจากค่าการตลาดอีกด้วย โดยคิดเป็น 7% ของค่าการตลาด
3. เงินกองทุนต่าง ๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
– เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน อธิบายคือ หากราคาน้ำมันตลาดโลกสูงเกินไป จะนำเงินส่วนนี้มาพยุงราคาขายปลีกในประเทศไว้ โดยที่น้ำมันแต่ละชนิดจะมีอัตราการเรียกเก็บแตกต่างกัน
– เงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นส่วนที่นำไปใช้ส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนในประเทศ โดยจัดเก็บเท่ากันในอัตรา 0.10 บาท/ลิตร
4. ค่าการตลาด เป็นส่วนที่ผู้ประกอบการสามารถกำหนดเองได้อย่างเสรี ภายใต้กลไกตลาดและการแข่งขัน ซึ่งเงินส่วนนี่้จะเป็นเหมือนกับส่วนกำไรของธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกน้ำมัน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pttplc.com หรือโทร. 1365 PTT Center

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลที่อ้างถึงไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เนื่องจากนายกฯ ไม่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการของ ปตท. และสำหรับในเรื่องของน้ำมันแพงนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนและยังมีราคาสูงทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเลวร้ายลงจากช่วงต้นปี 2565

หน่วยงานที่ตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น