จากกรณีแนะนำสรรพคุณเกี่ยวกับเรื่องสัปปายะ สมุนไพรตำรับไทย ฟื้นฟูปอดและรักษาภาวะ Long Covid ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และยังไม่พบงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลในการใช้ฟื้นฟูปอดจากสภาวะ Long Covid จากสมุนไพรดังกล่าวแต่อย่างใด
วันนี้ (16 มิ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องสัปปายะ สมุนไพรตำรับไทย ฟื้นฟูปอดและรักษาภาวะ Long Covid ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโฆษณาชวนเชื่อระบุว่า ภาวะ Long Covid ใช้ตำรับยาที่ช่วยฟื้นฟูปอด หลังติดเชื้อ มีอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ไอเรื้อรัง ใช้สัตตะโกฐ และตรีผลา สำหรับฟื้นฟูปอด ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า สัปปายะ สมุนไพรตำรับไทย พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวน 2 ตำรับด้วยกัน ตำรับแรกชื่อตำรับสัปปายะ สัตตะโกฐ เป็นตำรับที่มีสมุนไพร 7 ชนิด เป็นส่วนประกอบ คือ โกฐเชียง โกฐสอ โกฐหัวบัว โกฐจุฬาลัมพา โกฐเขมา โกฐก้านพร้าวและโกฐกระดูก และตำรับที่ 2 ชื่อ ตำรับสัปปายะ ตรีผลา เป็นตำรับที่มีสมุนไพร 3 ชนิด เป็นส่วนประกอบ คือ สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อม
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้ง 2 ตำรับดังกล่าว มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ ช่วยฟื้นฟูปอดจากสภาวะ Long Covid ซึ่งจากการสืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ไม่พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวว่าได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อีกทั้งจากการตรวจสอบในปัจจุบันนี้ ยังไม่พบปรากฏงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลในการใช้ฟื้นฟูปอดจากสภาวะ Long Covid จากสมุนไพรดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวนี้
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และยังไม่พบงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลในการใช้ฟื้นฟูปอดจากสภาวะ Long Covid จากสมุนไพรดังกล่าวแต่อย่างใด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข