ตามที่มีการแชร์ข้อมูลสุขภาพในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเต้าหู้กับน้ำผึ้งหากรับประทานด้วยกัน จะทำให้หูหนวก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในเฟซบุ๊กโดยระบุว่าเต้าหู้กับน้ำผึ้งหากรับประทานด้วยกัน จะทำให้หูหนวก ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า การรับประทานอาหารดังกล่าว ไม่มีข้อมูลว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูหนวก หูหนวกหรือสูญเสียการได้ยิน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความสามารถในการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด โดยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลังสาเหตุส่วนใหญ่ เช่น ประสาทหูเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บ การได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน หรือพิการแต่กำเนิดมักเกิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์ทาลายประสาทหูทารกในครรภ์ในรายที่หูหนวกแต่กำเนิดหากไม่ได้รับการรักษาฟื้นฟูเด็กมักเป็นใบ้ สำหรับเต้าหู้กับน้ำผึ้ง เป็นอาหารประเภทโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารหลัก 5 หมู่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่มีข้อมูลว่าการรับประทานอาหารดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเกิดหูหนวก
กระบวนการได้ยินเสียง
1. คลื่นเสียงจะเคลื่อนผ่านเข้าทางช่องหู และเข้าไปกระทบเยื่อแก้วหู
2. เยื่อแก้วหูและกระดูกหูทั้ง 3 ชิ้น (ค้อน ทั่ง โกลน) ที่อยู่ภายในหูชั้นกลางจะสั่นสะเทือนตามคลื่นเสียง
3. การสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงจะถูกส่งผ่านเข้าไปตามของเหลวที่อยู่ในอวัยวะรูปเกลียว (ก้นหอย) เรียกว่ากระดูกก้นหอย (Cochlea) และจะทำให้ขนที่มีขนาดเล็ก (hair cell) ที่อยู่ในกระดูกก้นหอยเคลื่อนไหวและเปลี่ยนไปเป็นสัญญาณส่งไปยังเส้นประสาทการได้ยิน
เส้นประสาทการได้ยิน จะส่งสัญญาณที่เป็นคลื่นไฟฟ้า (Electronic impulses) ต่อไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของเสียง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/หรือโทร0-2591-7007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การรับประทานอาหารดังกล่าว ไม่มีข้อมูลว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูหนวก สาเหตุการเป็นโรคหูหนวกมักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลังสาเหตุส่วนใหญ่ เช่น ประสาทหูเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บ