จากกรณีที่มีข้อมูลบนสื่อออนไลน์ว่าสบู่เหลวทุกชนิดที่วางขายอยู่นั้น มีส่วนผสมของสารเอสแอลเอสและสารประกอบตระกูลเอมีน อาจทำปฏิกิริยากันและจะกลายเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสารซักฟอกในชีวิตประจำวันทั่วไปทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง
วันนี้ (19 พ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่องสบู่เหลวมีสารซักฟอก หากใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีนจะเป็นสารก่อมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อมูลโดยระบุว่า สบู่เหลวทุกชนิดที่วางขายอยู่นั้น มีส่วนผสมของสารเอสแอลเอสและสารประกอบตระกูลเอมีน (amine) อาจทำปฏิกิริยากันและจะกลายเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสารซักฟอกในชีวิตประจำวันทั่วไปทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ซึ่งสบู่เหลวทำมาจากปฏิกิริยาระหว่างไขมันกับด่าง และอาจมีการเติมสารเคมีหลายชนิด เช่น สารลดแรงตึงผิวหรือสารซักฟอก สารเพิ่มฟอง สารเพิ่มความหนืด สารกันเสีย สารเพิ่มความชุ่มชื้น และสารปรับความเป็นกรดด่าง เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน สบู่เหลวบางประเภทมีส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิวที่ชื่อว่า โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate , SLS) และโซเดียมลอเรตซัลเฟต (Sodium Laureth Sulfate, SLES) สารเหล่านี้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่ามีความปลอดภัยสามารถใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้หากใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเอสแอลเอสสามารถทำปฏิกิริยากับสารตระกูลเอมีนแล้วเกิดเป็นสารไนโตรซามีนได้ แต่จะต้องมีองค์ประกอบหรือสภาวะที่เหมาะสม เช่น ต้องทำปฏิกิริยากันภายใต้อุณหภูมิที่สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ดังนั้นการใช้สบู่เหลวในชีวิตประจำวันทั่วไปจะทำให้มีโอกาสเกิดสารก่อมะเร็งได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามการใช้สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสารเอสแอลเอสอาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนี้และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกาย รวมถึงสภาพผิวของแต่ละคนด้วย ซึ่งสบู่เหลวจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงแนะนำให้เลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือและมีใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง หากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงสารเอสแอลเอสในผลิตภัณฑ์ สามารถเลือกใช้เครื่องสำอางที่ฉลากระบุว่า “Sodium Lauryl Sulfate Free” ได้
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02-202-6800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสารซักฟอกในชีวิตประจำวันทั่วไปทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข