จากกรณีที่มีการแชร์โพสต์ในเรื่องดื่มน้ำต้มใบรางจืดและใบเตย ช่วยล้างน้ำตาลในเลือดได้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางวิชาการที่บ่งชี้ว่า การใช้รางจืดและใบเตยหอมร่วมกันตามสูตรดังกล่าวจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีเพียงผลการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในคนที่ชัดเจน
วันนี้ (30 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพเรื่องดื่มน้ำต้มใบรางจืดและใบเตย ช่วยล้างน้ำตาลในเลือดได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการแชร์โพสต์สุขภาพโดยระบุว่า กินน้ำตาลเยอะส่งผลร้ายกับร่างกายของเรา แนะนำสูตรล้างน้ำตาลในเลือดแบบธรรมชาติ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางวิชาการที่บ่งชี้ว่า การใช้รางจืดและใบเตยหอมร่วมกันตามสูตรดังกล่าวจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถึงแม้ว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดของรางจืดและเตยหอมในสัตว์ทดลอง (ส่วนของเตยหอมที่พบว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง คือ ส่วนราก) แต่ยังไม่มีข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในคนที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบ ปริมาณ และระยะเวลาในการรับประทาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
นอกจากนี้ รางจืดยังมีสรรพคุณลดความร้อนในร่างกาย หากกินเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายเกิดความเย็น ส่งผลให้มือเท้าชาและเลือดลมเดินไม่สะดวก และจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้รางจืดร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น เนื่องจากรางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้ที่เว็บไซต์ https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/หรือโทร0-2591-7007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางวิชาการที่บ่งชี้ว่า การใช้รางจืดและใบเตยหอมร่วมกันตามสูตรดังกล่าวจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีเพียงผลการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในคนที่ชัดเจน
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข