ครม. อนุมัติโครงการศึกษาความปลอดภัยความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพ ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด 19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2a โดยบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมกับมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม
วันนี้ (29 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องครม. อนุมัติโครงการศึกษาความปลอดภัยวัคซีนใบยาไฟโตฟาร์ม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ซึ่งได้อนุมัติโครงการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด 19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2a โดยบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรอบวงเงิน 211 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่1 (การแพทย์/สาธารณสุข) ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมกับมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัดเร่งดำเนินการจัดทำแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทดสอบการฉีดวัคซีนในมนุษย์ภายในเดือน ก.ค. 2565 ตามแผนดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2565 รวมถึงจดทำแผนเร่งรัดการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์นับจากวันที่ ครม. ได้อนุมัติโครงการ
พร้อมกันนี้ ครม. ได้อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5(2) (เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19) วงเงิน 211 ล้านบาท มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5(1) (เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด19) เพื่อดำเนินโครงการศึกษาความปลอดภัยฯ ของสถาบันวัคซีนและบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ข้างต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prd.go.th หรือโทร. 02 618 2323
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี