จากกรณีมีการเผยแพร่ว่าข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตของสปสช. ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนทดลอง ส่วนผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนทดลอง ร่างกายปกติและแข็งแรงดี ทางสปสช. ได้ชี้แจงว่า สปสช.ช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด 19 นั้น ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด 19 หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลสรุปการช่วยเหลือแต่ละประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสียชีวิตไปอ้างอิงหรือสรุปได้ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนโควิด
วันนี้ (25 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่องข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตของสปสช. ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนทดลอง ส่วนผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนทดลอง ร่างกายปกติและแข็งแรงดี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่าข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตของสปสช. ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนทดลอง ส่วนผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนทดลอง ร่างกายปกติและแข็งแรงดี ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ชี้แจงว่า ภารกิจของ สปสช.ในการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด 19 นั้น ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด 19 หรือไม่ แต่ภารกิจคือการช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาให้รวดเร็วที่สุด ตามหลักการเยียวยาเบื้องต้นในระดับสากล คือไม่พิสูจน์ถูกผิด หรือ no-fault compensation ดังนั้นในการพิจารณาก็จะดูจากเอกสารทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพ ช่วงเวลาที่เกิดปัญหา คณะอนุกรรมการของ สปสช.ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลสรุปการช่วยเหลือแต่ละประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสียชีวิตไปอ้างอิงหรือสรุปได้ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนโควิด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ระบุว่าเสียชีวิตร่วม 4,000 ราย ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดย สปสช.แบ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 ประเภท คือ ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร แบ่งเป็น เสียชีวิตภายใน 30 วัน, เสียชีวิตมากกว่า 30 วัน, ทุพพลภาพอย่างถาวร และเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จากข้อมูลล่าสุด (23 เม.ย.65) มีรายละเอียดดังนี้
- เสียชีวิตภายใน 30 วัน จำนวน 3,067 ราย
- เสียชีวิตมากกว่า 30 วัน จำนวน 437 ราย
- ทุพพลภาพอย่างถาวร จำนวน 94 ราย
- เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จำนวน 165 ราย
- รวมเป็น 3,763 ราย เฉพาะที่เสียชีวิตคือ 3,504 ราย
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทร. 1330
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ภารกิจของ สปสช.ในการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด 19 นั้น ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด 19 หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลสรุปการช่วยเหลือแต่ละประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสียชีวิตไปอ้างอิงหรือสรุปได้ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนโควิด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข