จากที่มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องข้างต้น ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า อาการเวียนหัวที่เป็นอาการของโรคอัมพฤกษ์นั้น มีสาเหตุได้หลากหลาย อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบประสาทโดยตรง และไม่ใช่อาการนำของภาวะสมองเสื่อม แต่อาการมึนหัวที่เกิดจากความผิดปกติบางชนิด เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจมีผลต่อความจำ
วันนี้ (31 มี.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอาการความดันต่ำ เวียนหัวบ่อย เป็นสัญญาณของโรคอัมพฤกษ์ และความจำเสื่อม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ความดันต่ำ เวียนหัวบ่อย ๆ เจอร้อน ๆ จะเป็นลม แขนขาหนัก ๆ ปล่อยทิ้งไว้เป็นสัญญาณ อัมพฤกษ์ ความจำเสื่อมง่าย ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า อาการเวียนหัว บ้านหมุน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากภาวะหินปูนในหูชั้นใน โรคในหูชั้นในอื่น ๆ และโรคของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาการเวียนหัวที่เป็นอาการของโรคอัมพฤกษ์นั้น มักเกิดขึ้นทันทีทันใด มีอาการหมุนหรือโคลงเคลงอยู่ตลอดเวลา ไม่สัมพันธ์กับท่าทาง อาจมีอาการเดินเซหรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ส่วนอาการมึนงง ตื้อ ๆ หัวไม่โล่ง มีสาเหตุได้หลากหลายโดยที่อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทโดยตรง
อย่างไรก็ตาม อาการมึนหัวไม่สัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะสมองเสื่อม และไม่ใช่อาการนำของภาวะสมองเสื่อม แต่อาการมึนหัวที่เกิดจากความผิดปกติบางชนิด เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาจมีผลต่อความจำ การตัดสินใจ การวางแผนได้ หากมีอาการมึนหัวเรื้อรังหรือมีปัญหาด้านความคิดความจำร่วมด้วย จึงควรหาสาเหตุของอาการมึนหัวเพื่อแก้ไขต่อไป
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02 3069899
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : อาการเวียนหัวที่เป็นอาการของโรคอัมพฤกษ์นั้น มีสาเหตุได้หลากหลายโดยที่อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทโดยตรง และไม่ใช่อาการนำของภาวะสมองเสื่อม แต่อาการมึนหัวที่เกิดจากความผิดปกติบางชนิด เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาจมีผลต่อความจำ การตัดสินใจ การวางแผนได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข