จากข้อความที่เผยแพร่ว่าผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรเจียวกู่หลาน สามารถรักษามะเร็งได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่าผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรเจียวกู่หลาน หรือ ปัญจขันธ์ มีผลการศึกษาระดับเซลล์ในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง พบว่าสารประกอบฟีนอลิก ในสารสกัดเจียวกู่หลาน มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่าชาสมุนไพรเจียวกู่หลานสามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ตามที่กล่าวอ้าง
วันนี้ (2 มี.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ถึงประเด็นเรื่องผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรเจียวกู่หลาน สามารถรักษามะเร็งได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรเจียวกู่หลาน สามารถรักษามะเร็งได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่าผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรเจียวกู่หลาน หรือ ปัญจขันธ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino มีผลการศึกษาระดับเซลล์ในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง พบว่า สารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compounds) ในสารสกัดเจียวกู่หลาน มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง (anti-cancer) ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่าชาสมุนไพรเจียวกู่หลานสามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข https://www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx หรือโทร. 02-590-7000 ได้ในเวลาราชการ
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่าชาสมุนไพรเจียวกู่หลานสามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ตามที่กล่าวอ้าง
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข