จากคำแนะนำวิธีแก้ปวดตา ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกที่น่าเชื่อถือมาอ้างอิงว่ารักษาโรคได้จริง ซึ่งปัสสาวะ คือ ของเสียในรูปของเหลวที่ผลิตออกจากไต โดยกระบวนการกรองจากเลือดและขับออกจากท่อปัสสาวะ มีปริมาณ 1 ลิตรต่อวัน องค์ประกอบของปัสสาวะ 95 % เป็นน้ำ 2.5% เป็นยูเรีย และที่เหลือประกอบด้วยสารเคมีอื่น ๆ
วันนี้ (22 ก.พ.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลระบุว่า ตามที่ได้มีการส่งต่อข่าวสารในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพเรื่องใช้ปัสสาวะหยอดตา ช่วยแก้อาการปวดตาได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการบรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากใช้สายตาหนัก หรือแพ้แสงแดด โดยให้ใช้ปัสสาวะใหม่ ๆ หยอดตา เพื่อรักษาอาการข้างต้นนั้น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกที่น่าเชื่อถือมาอ้างอิงว่ารักษาโรคได้จริง ซึ่งปัสสาวะ คือ ของเสียในรูปของเหลวที่ผลิตออกจากไต โดยกระบวนการกรองจากเลือดและขับออกจากท่อปัสสาวะ มีปริมาณ 1 ลิตรต่อวัน องค์ประกอบของปัสสาวะ 95 % เป็นน้ำ 2.5% เป็นยูเรีย และที่เหลือประกอบด้วยสารเคมีอื่น ๆ โดยปัสสาวะอาจมีสีแตกต่างกันตามปริมาณน้ำตั้งแต่ใสไม่มีสี จนถึงสีเข้มในกรณีดื่มน้ำน้อยทำให้มีของเสียปะปนกับปัสสาวะมาก โดยทั่วไปปัสสาวะมีความเป็นกรดเล็กน้อย(ph6.0) อาจมีความเป็นกลางหรือด่างได้ขึ้นกับปริมาณน้ำที่ดื่ม อาหารและยาที่บริโภคโดยมีค่าความเป็นกรดด่างตั้งแต่ 4.6 ถึง 8.0
โดยหากนำปัสสาวะมาหยอดตาอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดง มีแผลถลอกที่ตาเสมือนโดนสารเคมีเข้าตา นอกจากนี้ปัสสาวะที่ออกมาตามท่อปัสสาวะ อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา หากนำมาหยอดตาอาจมีเชื้อโรคเข้าสู่ผิวตา ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุตาอักเสบ โรคตาแดง มีขี้ตา ตามัว หาก อาการลุกลามรุนแรง อาจเกิดภาวะกระจกตาอักเสบ ปวดตา ตาแดง หากรักษากระจกตาอักเสบได้ไม่ทันท่วงที การที่ติดเชื้อที่กระจกตาลุกลาม อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาหรือสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะผู้ที่ผิวกระจกตาไม่ดีอยู่เดิม เช่น ตาแห้ง ใส่คอนแทคเลนส์ และมีแผลถลอกที่กระจกตา ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่เชื้อโรคจะเข้าสู่กระจกตาได้ง่าย
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกที่น่าเชื่อถือมาอ้างอิงว่าน้ำปัสสาวะรักษาโรคได้จริง ซึ่งหากนำปัสสาวะมาหยอดตาอาจทำให้ระคายเคืองตา และเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข