การกินอะโวคาโด ช่วยลดการอักเสบ ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-C) รวมทั้งมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-C) ที่เป็นผลดีต่อร่างกาย ซึ่งลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่อะโวคาโดนั้นก็ได้ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง จึงควรระมัดระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน
วันนี้ (14 ก.พ.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ประเด็นเรื่อง อะโวคาโดช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดี โดยร้อยละ 70 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fatty acid:MUFA) และใยอาหารสูง รวมทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และสารพฤกษเคมีต่าง ๆ เช่น ลูทีน ซีแซนทีน การกินอะโวคาโด ช่วยลดการอักเสบ ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-C) รวมทั้งมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-C) ที่เป็นผลดีต่อร่างกาย ซึ่งลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
อย่างไรก็ตามอะโวคาโดนั้นก็ได้ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง จึงควรระมัดระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เพราะอาจไปยับยั้งกลไกต้านการแข็งตัวของเลือดของยาได้ และยังมีพลังงานสูง ปริมาณ 100 กรัม (ประมาณ ½ ผล) มีพลังงาน 160 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว จึงแนะนำให้กินไม่เกินครึ่งผลต่อครั้ง และในแต่ละวันควรกินผลไม้ให้หลากหลายชนิดและสี ตามฤดูกาล เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน
ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/ หรือโทร. 02 590 4332
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักโภชณาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข