กรณีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่าขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าว ฟักทอง สามารถช่วยต้านโรคซึมเศร้าได้นั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจงว่า สมุนไพรทั้ง 4 ชนิด มีข้อมูลว่ามีส่วนช่วยปรับลดอาการซึมเศร้า แต่ยังไม่ใช่การรักษาหลัก ซึ่งผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าควรไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมกับภาวะโรค
วันนี้ (10 ก.พ.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องรับประทานขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าว ฟักทอง ช่วยต้านโรคซึมเศร้าได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่า สมุนไพร 4 ตัวนี้ ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าว ฟักทอง มีข้อมูลว่าสามารถช่วยต้านโรคซึมเศร้าได้นั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า สมุนไพรทั้ง 4 ชนิดมีข้อมูลว่ามีส่วนช่วยปรับลดอาการซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ใช่การรักษาหลัก ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าควรไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมกับภาวะโรค ส่วนการรับประทานสมุนไพรดังกล่าวข้างต้นสามารถใช้เป็นส่วนเสริมในรูปแบบอาหาร
โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ซึมเศร้าเท่านั้น แต่หากเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่บำบัดรักษา อาจนำมาสู่ปัญหาการทำงานและการดำเนินชีวิต และบางรายอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากพบหรือสงสัยว่าตนเองและคนใกล้ชิดของคุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป
โดยขมิ้นชัน มีเคอร์คูมินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารที่ทำให้เครื่องเทศชนิดนี้มีสีเหลืองทองสดใส จากการได้รับจะช่วยให้พวกเขามีอารมณ์ที่ดีขึ้นมาก เพราะเคอร์คูมินช่วยลดกระบวนการอักเสบที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานวิจัยรองรับว่าการได้รับสารสกัดจากขมิ้นชันร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้านั้นสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดีกว่าการได้รับยารักษาโรคซึมเศร้า
ส่วนบัวบก (Asiatic Pennywort, Gotu kola) จากการศึกษาพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบกขนาด 400 และ 800 mg/kg สามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ ลดความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้ระดับฮอร์โมน cortisol ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเทียบกับ fluoxetine ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้า
น้ำมันรำข้าว (rice bran oil) มีสารสำคัญ คือ GABA (Gamma-aminobutyric acid) สามารถช่วยทำให้นอนหลับได้ มีฤทธิ์ผ่อนคลาย คลายกังวล นอกจากนี้การที่มีสารเซโรโทนิน (serotonin 5HT) ต่ำ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า การได้รับสารสำคัญจากน้ำมันรำข้าวจะไปช่วยขัดขวางการเกิดกระบวนการเกิด down regulation of 5-HT1A auto-receptor ด้วย
สุดท้ายฟักทอง (Pumpkin) ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยทำการสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีน มีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และยังมีผลเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : สมุนไพรทั้ง 4 ชนิด มีข้อมูลว่ามีส่วนช่วยปรับลดอาการซึมเศร้า แต่ยังไม่ใช่การรักษาหลัก ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าควรไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมกับภาวะโรค
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข