กรณีคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาว่าธ.อิสลาม ปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์ผ่านมัสยิด โดยไม่มีเงื่อนไขการกู้ ทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์ ธนาคารมีการกำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน ทั้งคุณสมบัติของตัวแหนมัสยิดหรือผู้ดูแลโครงการ และคุณสมบัติของสัปปุรุษ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใด
วันนี้ (22 ม.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ที่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ธ.อิสลาม ปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์ผ่านมัสยิด โดยไม่มีเงื่อนไขการกู้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาพูดถึงการปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์ผ่านมัสยิด โดยไม่มีเงื่อนไขการกู้ จะให้กู้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของตัวแทนมัสยิดนั้นๆ โดยบริการขาดทุนอย่างไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องมีการตรวจสอบจากแบงก์ชาตินั้น ทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์ ธนาคารกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจนทั้งคุณสมบัติของตัวแหนมัสยิดหรือผู้ดูแลโครงการ และคุณสมบัติของสัปปุรุษ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใด และวัตถุประสงค์ของโครงการชุมชนชื่อสัตย์ เพื่อที่จะเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำรงชีพหรือสนับสนุนให้เป็นทุนประกอบอาชีพแก่คนในชุมชนของแต่ละมัสยิด (สับปุรุษ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินและลดปัญหาการพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบไม่มีวัตถุประสงค์ให้สัปปรุษไปปล่อยสินเชื่อต่อ
ซึ่งโครงการชุมชนชื่อสัตย์ ธนาคารเป็นผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อแก่ตัวแทนมัสยิดหรือเรียกว่าผู้ดูแลโครงการ (ลูกหนี้ตามสัญญา) ผ่านกระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารได้กำหนดไว้ ซึ่งธนาคารได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ดูแลโครงการ ดังนี้
1.ต้องได้รับความเห็นชอบจากมัสยิด
2.เป็นผู้มีความรับผิดชอบ
3.อายุไม่เกิน 70 ปี
4.ไม่มีประวัติทางการเงินเสียหาย
5.ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
6.ไม่เคยถูกจำคุก
7.ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ดูแลโครงการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร (วงเงินตั้งแต่ 200,000 – 1,000,000 บาทต่อมัสยิดขึ้นอยู่กับจำนวนสับปุรุษหรือมุสลิมในชุมชนของแต่ละมัสยิด) ผู้ดูแลโครงการก็จะให้สินเชื่อแก่สัปปุรุษของมัสยิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำรงชีพและเป็นทุนหมุนเวียนหรือเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพที่ไม่ขัดหลักศาสนาอิสลาม ไม่มีวัตถุประสงค์ให้สัปบุรุษที่ได้รับสินเชื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อ และธนาคารยังได้กำหนดคุณสมบัติของสับปุรุษ ดังนี้
1.เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยนับถือศาสนาอิสลาม
2.เป็นสับปุรุษของมัสยิดแห่งนั้น
3.อายุ 20 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
4.ประกอบอาชีพสุจริตที่ไม่ขัดต่อหลักชะรีอะฮ์
5.มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อและตามหนี้ได้
6.ต้องมีบุคคลอ้างอิงเพื่อติดตามทวงถามอย่างน้อย 1 คน
ส่วนประเด็นที่กล่าวว่าบริการขาดทุนอย่างไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ต้องมีการตรวจสอบจากแบงก์ชาตินั้น ทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจว่า ธนาคารมีหลักในการบริหารงานตามมาตรฐานของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคสัง โดยคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ และแผนธุรกิจของธนาคารที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อีกทั้งเมื่อธนาคารเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ จึงได้รับการตรวจสอบจากธปท.เป็นประจำทุกปี และทุกครั้งที่มีการออกโครงการใหม่ๆจะต้องได้รับความเห็นชอบและหรืออนุมัติต่อผู้กำกับดูแลธนาคารตามอำนาจที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สามารถติดตามได้ที่ www.ibank.co.th/th หรือโทร.1302
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนซื่อสัตย์ ธนาคารมีการกำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน ทั้งคุณสมบัติของตัวแหนมัสยิดหรือผู้ดูแลโครงการ และคุณสมบัติของสัปปุรุษ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย