กรณีการแนะนำวิธีฆ่าเชื้อโควิด-19 ด้วยการใช้หม้อดินหรือหม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาดเล็กต้มน้ำสมุนไพร และใช้ผ้าคลุมศีรษะเพื่อสูดไอน้ำดังกล่าวนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจงว่า ยังไม่พบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าการสูดไอน้ำสมุนไพร สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ อีกทั้งวิธีการสูดไอน้ำร้อนอาจเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 จากการแพร่กระจายของไอความร้อนได้
วันนี้ (5 ม.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีคำแนะนำในประเด็นเรื่อง สูดดมไอน้ำจากหม้อต้มสมุนไพร ช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการส่งต่อข้อมูลแนะนำ ที่ระบุถึงการฆ่าเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการใช้หม้อดินหรือหม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาดเล็กต้มน้ำสมุนไพร และใช้ผ้าคลุมศีรษะเพื่อสูดไอน้ำดังกล่าวนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจงว่า วิธีดังกล่าว คือ การสูดไอน้ำร้อน ซึ่งยังไม่พบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าการดูแลสุขภาพตามคำแนะนำข้างต้นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ อีกทั้งวิธีการสูดไอน้ำร้อนอาจเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 จากการแพร่กระจายของไอความร้อนได้
โดยการสูดไอน้ำร้อน (Steam Inhalation) เป็นวิธีการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยนิยมใช้รักษาผู้ป่วยโรคในระบบทางเดินหายใจ เพื่อรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการปวดตื้อ ๆ ที่ศีรษะซึ่งเกิดจากการไหลเวียนของอากาศในโพรงไซนัสที่ไม่ดีจากเยื่อบุจมูกที่บวมไปอุดกั้นรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกหรือภูมิแพ้อากาศ วิธีดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก ช่วยลดอาการของโรคหืด และเป็นวิธีการเสริมสำหรับการแพทย์แผนปัจจุบันที่จะช่วยให้การพ่นยาเข้าไปในจมูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจจะใช้น้ำเดือดธรรมดา หรืออาจมีการผสมน้ำมันหอมระเหย หรือสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณช่วยให้จมูกโล่ง เช่น น้ำมัยยูคาลิปตัส น้ำมันสระแหน่ เป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านเพื่อเป็นการรักษาเสริมสำหรับโรคจมูกและไซนัสอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง และขณะเดียวกันจากประกาศกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เรื่อง แนวทางการให้บริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เพื่อป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขอให้งดกิจกรรมการให้บริการอบไอน้ำสมุนไพร หรือกิจกรรมอื่นที่คล้ายกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการกระจายเชื้อโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่พบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าการสูดไอน้ำสมุนไพร สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ อีกทั้งวิธีการสูดไอน้ำร้อนอาจเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 จากการแพร่กระจายของไอความร้อนได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข