กรณีการส่งต่อข้อความตามประเด็นเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดมีสีดำคล้ำ ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ สภากาชาดไทยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ และร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด สามารถบริจาคโลหิตได้ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับโลหิต
วันนี้ (2 ธ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อความปรากฏในช่องทางออนไลน์เรื่อง เลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดมีสีดำคล้ำ ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสภากาชาดไทยพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการโพสต์ภาพที่มีข้อความระบุว่า เลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสีดำคล้ำ หากไปบริจาคเลือดก็ไม่สามารถนำเลือดไปใช้รักษาผู้ป่วยได้นั้น ทางสภากาชาดไทยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ และร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด เพราะโลหิตเป็นของเหลว “สีแดง” ที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยฮีโมโกลบิล ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซค์จากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปขับออกที่ปอด ทำให้เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงมีระดับออกซิเจนปริมาณสูง เลือดจึงมีสีแดงสด ส่วนเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดดำมีปริมาณออกซิเจนลดลง และมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์สูงกว่า เลือดจึงมีสีแดงคล้ำเมื่อบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จะเจาะเก็บโลหิตจากข้อพับแขนที่เส้นเลือดดำ ทำให้โลหิตบริจาคมีสีแดงคล้ำกว่าเส้นเลือดจากหลอดเลือดแดง เป็นปกติทุกคน
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสภากาชาดไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.redcross.or.th หรือโทร. 1664
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ และร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด สามารถบริจาคโลหิตได้ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับโลหิต
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สภากาชาดไทย