กรณีคำแนะนำเพื่อช่วยรักษาอาการปัสสาวะไม่ออกได้ โดยให้กระโดดพร้อมกับยกมือขึ้นนั้น ทางสถาบันประสาทวิทยา ได้ชี้แจงว่า การกระโดด จะทำให้ปริมาณของปัสสาวะที่มีมากไหลท้นหรือล้นออกมาได้ แต่เป็นการกระทำเพื่อทุเลาหรือบรรเทาอาการในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาและไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา จึงควรไปรับการตรวจรักษาและแก้ไขอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในระยะยาว
วันนี้ (1 ธ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กระโดดพร้อมกับยกมือขึ้น ช่วยรักษาอาการปัสสาวะไม่ออกได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีการแชร์คำแนะนำเพื่อช่วยรักษาอาการปัสสาวะไม่ออกได้ โดยให้กระโดดพร้อมกับยกมือขึ้นนั้น ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า อาการปัสสาวะไม่ออกแบบฉับพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากระบบทางเดินปัสสาวะเองหรือจากระบบประสาทในการรับรู้และควบคุมปัสสาวะ โดยเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะทำให้ปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น เวลาขยับตัว เวลากระโดด หรือแม้แต่การกดที่บริเวณท้องน้อย จะทำให้ปริมาณของปัสสาวะที่มีมากไหลท้นหรือล้นออกมาได้ แต่เป็นการกระทำเพื่อทุเลาหรือบรรเทาอาการในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาและไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา และจากเนื้อหาที่มีการส่งต่อ มีข้อความว่า “ตอนนี้ช่องท้องส่วนล่างของเขาหนักขึ้น ไม่สามารถนั่งหรือยืนได้” ซึ่งหากเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอาการปัสสาวะไม่ออก อาจจะเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทไขสันหลัง ซึ่งทำให้มีอาการอ่อนแรง ชาลำตัวท่อนล่าง ร่วมกับปัสสาวะไม่ออกได้ ซึ่งหากไม่รีบเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล จะทำให้เกิดความพิการได้
นอกจากนี้อาการปัสสาวะไม่ออกนั้น เกิดจากโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ หากไม่ไปรับการตรวจรักษาและแก้ไข ก็เป็นเหตุให้เกิดผลเสียในระยะยาว รวมถึงปริมาณปัสสาวะที่มีมากในกระเพาะปัสสาวะ จะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลเสียต่อร่างกายโดยเฉพาะระบบหัวใจและสมอง เป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองทั้งแตก ตีบและอุดตันได้
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02-3069899
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การกระโดด จะทำให้ปริมาณของปัสสาวะที่มีมากไหลท้นหรือล้นออกมาได้ แต่เป็นการกระทำเพื่อทุเลาหรือบรรเทาอาการในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาและไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข