จากประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพข้างต้น ทางสถาบันประสาทวิทยา ได้ชี้แจงว่า การจูบบริเวณคอ หรือการดูดคอ มักจะทำให้มีรอยช้ำที่บริเวณผิวหนัง แต่มักไม่ได้รุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและหลุดลอยของลิ่มเลือด ยกเว้นการกระทำด้วยความรุนแรงมากอาจเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บและหลุดลอยของลิ่มเลือด จนเป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด
วันนี้ (20 พ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็น ดูดคอเสี่ยงเป็นอัมพาต และเส้นเลือดในสมองตีบตันเฉียบพลัน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีการแชร์ข้อความว่าการดูดคอ ทำให้เสี่ยงเป็นอัมพาต เส้นเลือดในสมองตีบตันเฉียบพลัน เพราะการทำรอยจูบ รอยช้ำที่คอ อาจทำให้เลือดคั่งเฉพาะจุด จนอุดตันการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนั้น สถาบันประสาทวิทยา ได้ชี้แจงว่า การหลุดของลิ่มเลือดที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงในสมองส่วนปลายได้จริง ซึ่งในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือผู้ป่วยที่มีโรคความผิดปกติของหลอดเลือด มักจะมีลิ่มเลือดเหล่านี้หนาตัวที่บริเวณผนังหลอดเลือดโดยทั่วไป
โดยการบีบนวดบริเวณคอ หรืออุบัติเหตุรุนแรง ที่ทำให้เกิดการหลุดของลิ่มเลือดดังกล่าว อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจากสาเหตุนี้ได้ โดยผู้ป่วยอาจจะมีหรือไม่มีรอยช้ำที่บริเวณผิวหนังบริเวณคอก็ได้ ส่วนการจูบแบบรุนแรง มักจะทำให้มีรอยช้ำที่บริเวณผิวหนังได้ แต่หากไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรงมาก ก็จะมักไม่ได้รุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและหลุดลอยของลิ่มเลือด
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02-3069899
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การจูบบริเวณคอ หรือการดูดคอ มักจะทำให้มีรอยช้ำที่บริเวณผิวหนัง แต่มักไม่ได้รุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและหลุดลอยของลิ่มเลือด ยกเว้นการกระทำด้วยความรุนแรงมากอาจเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บและหลุดลอยของลิ่มเลือด จนเป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข