xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวบิดเบือน! แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท และผู้แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่ง 50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากประเด็นแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท และผู้แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่ง 50% กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตามพรบ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 หากปฏิเสธผู้โดยสาร มีอัตราโทษ คือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ไม่ใช่ 5,000 บาท ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล หลังจากหักเป็นเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว

วันนี้ (17 พ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความในสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท และผู้แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่ง 50% ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พบว่าข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าว เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากที่มีการโพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทลงโทษทางกฎหมาย เมื่อแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งระบุว่าหากปฏิเสธผู้ขับจะโดนโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท พักใบอนุญาตขับรถ 15-30 วัน หากทำผิดซ้ำจะถูกพักใช้ใบขับขี่ 3-6 เดือน และผู้แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้วนั้น ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 การปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 57 จัตวา ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเข้ารับอบรมเสริมความรู้และปลูกจิตสำนึกการให้บริการที่ดีตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง หากมีการกระทำความผิดซ้ำจะพักใช้ใบอนุญาตขับรถตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 6 เดือน

โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และได้รับส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล เมื่อมีการตรวจสอบและดำเนินการเปรียบเทียบปรับหรือคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล หลังจากหักเป็นเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว

แต่ทั้งนี้ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพกาลปัจจุบัน โดยในประเด็นการแก้ไขอัตราโทษตามที่มีการนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นแนวคิดในการแก้กฎหมายต้องพิจารณาระบบโทษในกฎหมายให้สัมพันธ์กันทั้งระบบโดยการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dlt.go.th หรือเฟซบุ๊ก : กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News หรือโทร. 1584

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ตามพรบ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 หากปฏิเสธผู้โดยสาร มีอัตราโทษ คือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ไม่ใช่ 5,000 บาท ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่งตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล หลังจากหักเป็นเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น