ประเทศไทย ประเทศอินโด และประเทศมาเลย์ ขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย เชื่อมโยงคมนาคมคาบสมุทรมลายู โดยความคืบหน้าความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่ายประกอบไปด้วยโครงการสำคัญ เช่น 1.กรอบความร่วมมือ ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง การตรวจโรคพืชและสัตว์ 2.โครงการฐานข้อมูลตลาดแรงงาน และ 3.โครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
วันนี้ (30 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ไทย-อินโด-มาเลย์ ร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย (IMT-GT) เชื่อมคมนาคมคาบสมุทรมลายู ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
ประเทศไทย ประเทศอินโด และประเทศมาเลย์ ขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) เชื่อมโยงคมนาคมคาบสมุทรมลายู โดยความคืบหน้าความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ประกอบไปด้วยโครงการสำคัญ อาทิ
1) กรอบความร่วมมือ ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคล
2) โครงการฐานข้อมูลตลาดแรงงาน
3) โครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพในอนุภูมิภาคมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 14 โครงการ
• ในส่วนของประเทศไทย ได้แก่ โครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ระยะสั้น จังหวัดสงขลา
• อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ การก่อสร้างท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีและนราธิวาส
• ส่วนโครงการใหม่ ได้แก่ ความเชื่อมโยงทางรางระหว่างไทยสู่มาเลเซีย (สุไหงโกลก-รันเตาปันยัง-ตุมปัต)
ขณะที่อินโดนีเซีย กำลังพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของสุมาตราเหนือ ท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมเรียว มาเลเซียเสนอโครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาพื้นที่หาดต็อกบาหลี เมืองสีเขียวโกตาบารู การก่อสร้างสนามบินโกตาบารู
นอกจากนี้ IMT-GT ยังตกลงที่จะร่วมมือกันในการปกป้องอุทยานโลก โดยมีการลงนามความเข้าใจระหว่างอุทยานธรณีโลกลังกาวี (มาเลเซีย) อุทยานธรณีโลกสตูล (ไทย) และอุทยานธรณีโลกทะเลสาบโตบา (อินโดนีเซีย) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีในการปกป้องมรดกธรณีและการพัฒนาอุทยานธรณี
สำหรับการขับเคลื่อนระยะต่อไป จะขยายแผนดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้งคาบสมุทรมลายู รวมทั้ง พิจารณารับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดียในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของแผนงาน IMT-GT สนับสนุนความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 โดยมีโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ของไทยเป็นต้นแบบ
เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/PMOCNEWS/ หรือโทร. 02 288 4000
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี