xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวจริง! ครม. อนุมัติงบ 2.7 หมื่นล้าน ประกันรายได้และรักษาเสถียรภาพ ราคาข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนานรักษาเสถียรภาพราคา พืช 3 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2564/65 วงเงินรวม 2.7 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดูแลเกษตรกรครอบคลุมกว่า 5.66 ล้านครัวเรือน สำหรับการประกันรายได้เกษตรกรทั้ง 3 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 2.2 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (26 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ครม. อนุมัติงบ 2.7 หมื่นล้าน ประกันรายได้และรักษาเสถียรภาพ ราคาข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ว่า ครม. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนานรักษาเสถียรภาพราคา พืช 3 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 วงเงินรวม  2.7 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดูแลเกษตรกรครอบคลุมกว่า 5.66 ล้านครัวเรือน สำหรับการประกันรายได้เกษตรกรทั้ง 3 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 2.2 หมื่นล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 วงเงิน 13,604 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านคน โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2564  ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับการชดเชยส่วนต่างนั้น หลักเกณฑ์เหมือนกับปี 2563/64 โดยชดเชยเป็นจำนวนตันใน 5 ชนิดข้าว ณ ราคาความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ (ข้าวเจ้า ครัวเรือนละ 50 ไร่) แปลงละ 1 ครั้ง ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน  ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ส่วนมาตรการคู่ขนานประกอบด้วย 3 โครงการ คือ

1.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 26,255 ล้านบาท (สินเชื่อ 20,401 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 5,853 ล้านบาท)

1.2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 15,562 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท)

1.3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ตามมติ นบข. เมื่อ 23 สิงหาคม 2564 ด้วย

2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 วงเงิน 1,863 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรได้ครอบคลุมกว่า 4.52 แสนราย โดยประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ในราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่แจ้งเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2565 (ยกเว้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้) โดยใช้เงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2566 สำหรับมาตรการคู่ขนาน 2 โครงการ ประกอบด้วย

2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,030 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 30 ล้านบาท)

2.2 โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อก ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,515 ล้านาท (วงสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 15 ล้านบาท)
3. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี2564/65 วงเงิน 6,811 ล้านบาท ดูแลเกษตรได้ครอบคลุมกว่า 5.3 แสนครัวเรือน โดยประกันราคาหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2565 ใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2566 สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2563/64 ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างทั้งสิ้น 9 งวด โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 436,817 ครัวเรือน รวม 3,057 ล้านบาท สิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายพฤศจิกายนนี้

มากไปกว่านั้น ครม.ได้เห็นชอบให้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 คือ กลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 จำนวน 8.41 หมื่นครัวเรือน ให้ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 เนื่องจากการปลูกมันสำปะหลังจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ทำให้เกษตรกรบางส่วนที่เริ่มปลูกช้าและใช้เวลาปลูกนาน ไม่สามารถรับสิทธิโครงการได้ทัน โดยค่าใช้จ่ายในการชดเชยส่วนต่างกลุ่มดังกล่าวนี้ ยังคงภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิม ตามมติ ครม. (18 ส.ค.2563)

และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prd.go.th/th หรือโทร. 02-618-2323

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น