xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! คนไทยต้องแบกภาระจ่ายเงินซื้อน้ำมัน ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีประเด็นคนไทยต้องแบกภาระจ่ายเงินซื้อน้ำมัน ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การตั้งราคาน้ำมันของต่างประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศนั้นๆ (เช่น การชดเชยของรัฐฯ ภาษี ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน) และต้นทุนการซื้อน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงปัจจัยอื่นๆ โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทย และประเทศอื่นๆ พบว่าประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลกดังที่กล่าวไว้

วันนี้ (5 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง คนไทยต้องแบกภาระจ่ายเงินซื้อน้ำมัน ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อความซึ่งระบุว่าคนไทยทั้งประเทศ ต้องแบกภาระจ่ายเงินซื้อน้ำมัน ที่พูดได้ว่าแพงที่สุดในโลกนั้น ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า การตั้งราคาน้ำมันของต่างประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศนั้นๆ (เช่น การชดเชยของรัฐฯ ภาษี ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน) และต้นทุนการซื้อน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงปัจจัยอื่นๆ โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทย และประเทศอื่นๆ พบว่าประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลกดังที่กล่าวไว้ ซึ่งราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิง ณ วันที่ 24 กันยายน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 30.35 บาท/ลิตร กัมพูชา 36.99 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 63.67 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง ณ วันที่ 24 กันยายน เช่นกัน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 27.29 บาท/ลิตร กัมพูชา 30.00 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 51.78 บาท/ลิตร (อ้างอิง : http://www.eppo.go.th/epposite/index.php/th/energy-information/interretailprice)

ทั้งนี้ปัจจัยในการกำหนดราคาน้ำมัน เกิดจากโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ดังนี้
1. ราคาหน้าโรงกลั่นหรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด
2. ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม
3. ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) คือ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรา 4 ของ พรบ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย มีอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท
4. เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 วัตถุประสงค์หลักคือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ
5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในมาตรา 25 โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดอัตราการส่งเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามความในมาตรา 4
6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตราร้อยละ 7
7. ค่าการตลาด คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากร ดังนั้น ค่าการตลาดจึงมิใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย
8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด
(อ้างอิง : http://www.eppo.go.th/index.php/th/eppo-intranet/item/11451-faq3)

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.pttplc.com/th/Home.aspx หรือโทร. 1365

บทสรุปของเรื่องนี้ : เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทย และประเทศอื่นๆ พบว่าประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลกดังที่กล่าวไว้

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น