xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! สภานิติบัญญัติแห่งชาติอิสลาม เร่งผลักดันร่างกฎหมายอิสลาม หากมติเห็นชอบ จะทำให้คนไทยหมดอิสระภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีประเด็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติอิสลาม เร่งผลักดันร่างกฎหมายอิสลาม หากมติเห็นชอบ จะทำให้คนไทยหมดอิสระภาพ กรมการปกครอง ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยไม่มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์แต่อย่างใด จะมีก็แต่การนำหลักศาสนาอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกมาใช้สำหรับพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความในคดีทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และอยู่ในเขตอำนาจศาลในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สตูล เท่านั้น

วันนี้ (4 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อง สภานิติบัญญัติแห่งชาติอิสลาม เร่งผลักดันร่างกฎหมายอิสลาม หากมติเห็นชอบ จะทำให้คนไทยหมดอิสรภาพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีข่าวสารที่แชร์ต่อกันมาระบุ สนช.ชุดปัจจุบัน จำนวน 63 คน (จากสมาชิกทั้งหมด 233 คน) ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามกำลังพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อให้มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์ (ศาลที่พิพากษาตามหลักศาสนาอิสลาม) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากคนในศาสนาอื่นมีคดีความกับคนไทยมุสลิมแล้ว ก็ต้องตัดสินตามหลักศาสนาอิสลาม โดยมีผู้พิพากษาเป็นนักบวชในศาสนาอิสลามนั้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและยืนยันว่า ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น

สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 4 คนเท่านั้น ได้แก่ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล, ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (เข้านับถือศาสนาอิสลามตามคู่สมรส) นายวิทยา ฉายสุวรรณ และนายอนุมัติ อาหมัด (ลาออกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 62)

ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ซึ่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบของ สนช. ชุดปัจจุบันมีเพียง 1 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2559 เป็นต้นมา

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
– พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489
– พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
– พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
– พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545

ส่วนศาลชารีอะห์ คือ ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีความโดยใช้หลักศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องมีผู้รู้ทางศาสนาเข้าร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดีด้วย ปัจจุบันใช้อยู่ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิรัก อิหร่าน ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย ไม่มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์แต่อย่างใด จะมีก็แต่การนำหลักศาสนาอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกมาใช้สำหรับพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความในคดีทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และอยู่ในเขตอำนาจศาลในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สตูล เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 (ข้อ 3.1) เท่านั้น ดังนั้น ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง หากผู้ใดนำเข้าหรือเผยแพร่ต่อถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วย

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการปกครอง สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dopa.go.th หรือโทร. 0-2221-0151-8

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ประเทศไทย ไม่มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์แต่อย่างใด จะมีก็แต่การนำหลักศาสนาอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกมาใช้สำหรับพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความในคดีทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และอยู่ในเขตอำนาจศาลในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สตูล เท่านั้น

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น