กรณีการแชร์ข้อมูลธ.ออมสิน ปล่อยสินเชื่อธนาคารประชาชนสุขใจ ให้กู้ยืม 200,000 บาท ผ่อนเพียง 1,666 บาท ทางฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า จากข้อความโพสต์ที่ระบุว่า "ยืม 200,000 ผ่อน 1,666 บาท" เป็นการพูดถึงเงินต้นอย่างเดียวไม่พูดถึงดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ใช่ความจริงแต่ประการใด
วันนี้ (17 ก.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่ได้มีการส่งต่อข่าวสารในสื่อออนไลน์ถึงประเด็นเรื่อง ธ.ออมสิน ปล่อยสินเชื่อธนาคารประชาชนสุขใจ ให้กู้ยืม 200,000 บาท ผ่อนเพียง 1,666 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน ซึ่งระบุว่าสินเชื่อลงทุนค้าขาย ออมสิน สมัครง่ายยืมได้เลย 2 เเสนบาทนั้น ทางฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเพจเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ดังกล่าว ได้นำข้อมูลของสินเชื่อประชาชนสุขใจ ของธนาคารออมสินมาเผยแพร่ ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการรายย่อย กู้ไปเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ วงเงินกู้ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไปไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ ตั้งแต่ 3 ปี (36 งวด) ไม่เกิน 10 ปี (120 งวด) จากข้อมูลดังกล่าวหากลูกค้ากู้ยืม 200,000 บาท ผ่อนชำระ 10 ปี (120 งวด) จะต้องผ่อนชำระงวดละ 3,667 บาท (คำนวณเงินต้น 200,000 ÷ 120 = 1,666 บาท คำนวณดอกเบี้ย 200,000 × 0.01 = 2,000 บาท เมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ย ต้องผ่อนชำระงวดละ 3,667 บาท)
โดยกรณีที่อ้างว่า “ยืม 200,000 ผ่อน 1,666 บาท” เป็นการพูดถึงเงินต้นอย่างเดียวไม่พูดถึงดอกเบี้ยซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่นำมาโพสต์จึงไม่ใช่ความจริงแต่ประการใด ถือเป็นการจงใจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th เฟซบุ๊ก GSB society หรือโทร 1115
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จากข้อความโพสต์ที่ระบุว่า “ยืม 200,000 ผ่อน 1,666 บาท” เป็นการพูดถึงเงินต้นอย่างเดียวไม่พูดถึงดอกเบี้ยซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ใช่ความจริงแต่ประการใด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : ธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง