xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรตรานพเก้า บล็อกและเบิร์นไขมัน ลดน้ำหนัก รักษาได้สารพัดโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณีผลิตภัณฑ์บอกสรรพคุณชาสมุนไพรตรานพเก้า บล็อกและเบิร์นไขมัน ลดน้ำหนัก รักษาได้สารพัดโรค ทางอย. ได้ชี้แจงว่า เป็นการใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลเพื่อประเมินประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค

วันนี้ (4 มิ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยอ้างสรรพคุณว่า ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรตรานพเก้า บล็อกและเบิร์นไขมัน ลดน้ำหนัก รักษาได้สารพัดโรค ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรตรานพเก้า ที่ใช้ข้อความโฆษณาแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ว่า สามารถบล็อก และเบิร์น ช่วยลดน้ำหนัก เร่งการเผาผลาญ ลดการสะสมของไขมันใหม่ ขับไขมันเก่า ดีท็อกซ์ลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายปกติ และรักษาโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไต ไทรอยด์ ไขมันในเลือด ไวรัสตับอักเสบ อัมพาต ลดระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอล เป็นต้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ ชาสมุนไพรตรานพเก้า ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ตรา นพเก้า)/ Dietary Supplement product (Noppakao Brand) เลขสารบบอาหาร 40-2-01858-5-0008 และขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์ชาจากพืชในชื่อ ชาสมุนไพรตรานพเก้า/(Herbal Tea NOPPAKAO Brand) เลขสารบบอาหาร 40-2-01858-6-0001 ผลิตโดย บริษัท เบเน็ตตา จำกัด

และข้อความโฆษณาเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลเพื่อประเมินประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค อย. จึงขอเตือนประชาชนว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีผลตามที่กล่าวอ้าง อย่าหลงเชื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายจากการลักลอบใส่ยาเพื่อให้เกิดผลตามคำโฆษณา ซึ่งมีผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และหากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทรสายด่วน 1556

บทสรุปของเรื่องนี้: เป็นการใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลเพื่อประเมินประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น