xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่เยาวราช เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณีการโพสต์ข้อมูลว่าห้ามไปเยาวราช เพราะเชื้อโควิด-19 ระบาดหนัก มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเพราะมีคนติดเชื้อจำนวนมาก ทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นจริง การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วถนนเยาวราช เป็นการกระทำปกติในย่านสำเพ็งเยาวราช ที่ต้องการรณรงค์ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้ฉีดพ่นเพราะมีการระบาดในย่านเยาวราช

วันนี้ (23 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อโซเชียล เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่เยาวราช เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการโพสต์ข้อมูลว่าห้ามไปเยาวราช เพราะเชื้อโควิด-19 ระบาดหนัก มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเพราะมีคนติดเชื้อจำนวนมาก ให้งดการไปเที่ยวเยาวราชก่อนนั้น ทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นจริง การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วถนนเยาวราช เป็นการกระทำปกติในย่านสำเพ็งเยาวราช ที่ต้องการรณรงค์ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้ฉีดพ่นเพราะมีการระบาดในย่านเยาวราช แต่ทั้งนี้กรุงเทพมหานครไม่ได้อนุญาตให้มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามที่มีภาพเผยแพร่ในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ติดเชื้อจริง แต่เป็นเพียงบางร้านเท่านั้น ซึ่งร้านอาหารย่านเยาวราชมีการรักษาอนามัยส่วนบุคคลป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด

โดยกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการถึงวิธีการฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม โดยการเช็ดถู ด้วยแอลกอฮอล์ 70% และน้ำยาฟอกขาว บริเวณพื้นที่หรือจุดสัมผัสร่วมต่าง ๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ จะเกิดประสิทธิภาพมีความปลอดภัยต่อผู้ทำความสะอาด พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและปฏิบัติตามมาตรการ (D-M-H-T-T-A) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ หรือ หมอชนะ เมื่อเข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.prbangkok.com/th/ หรือโทร 0-2221-2141-69

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นการกระทำปกติในย่านสำเพ็งเยาวราช ที่ต้องการรณรงค์ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้ฉีดพ่นเพราะมีการระบาดในย่านเยาวราช ซึ่งการฉีดพ่นดังกล่าว กรุงเทพมหานครไม่ได้อนุญาตให้มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามที่มีภาพเผยแพร่ในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร


กำลังโหลดความคิดเห็น