จากกรณีคำแนะนำลงสระว่ายน้ำวันละ 20 นาที ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า การออกกำลังกายในสระน้ำ ไม่ได้ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น แตกต่างจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ประเภทอื่น ๆ โดยการออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ แต่ไม่อาจจะทำให้เนื้อสมองส่วนที่เสียหายหรือตายไปแล้วกลับมาเป็นปกติดได้
วันนี้ (14 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ลงสระว่ายน้ำวันละ 20 นาที ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีการแชร์ข้อมูลวิธีการทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ด้วยการให้ลงว่ายน้ำวันละ 20 นาทีนั้น ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า การออกกำลังกายในสระน้ำ ไม่ได้ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น แตกต่างจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ประเภทอื่น ๆ แต่จะมีประโยชน์ในคนที่มีปัญหาเรื่องการลงน้ำหนัก เช่น เข่ามีปัญหา น้ำหนักตัวมาก เพราะจะมีแรงพยุงของน้ำ ทำให้ลดปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวและการลงน้ำหนักที่เข่าได้ การออกกำลังกายทุกประเภท โดยเฉพาะการออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ แต่ไม่อาจจะทำให้เนื้อสมองส่วนที่เสียหายหรือตายไปแล้วกลับมาเป็นปกติดได้ แต่อาการที่ดีขึ้น เกิดจากสมองส่วนที่เหลืออยู่ ปรับตัวทำหน้าที่ชดเชย หรือทำหน้าที่ทดแทนส่วนที่เสียหายไป ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดจะสามารถฟื้นตัวได้ แต่มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการทำกายภาพบำบัดและปัจจัยส่วนบุคคล
ซึ่งการว่ายน้ำเป็นประจำ สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ ไม่แตกต่างจากการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ ดังนั้นหากไม่อยากป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ รักษาโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
โดยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย แต่ในผู้สูงอายุ สาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นผลจากโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีอาการหากไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา จะได้รับการตรวจประเมิน หากเป็นเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตันและไม่มีข้อห้าม จะได้รับการรักษาด้วยยาฉีดสลายลิ่มเลือด หรือพิจารณาผ่าตัดสวนหลอดเลือดสมอง ในระยะยาวหรือสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาฉีดสลายลิ่มเลือดหรือผ่าตัดสวนหลอดเลือด จะได้รับยาชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ร่วมกับควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค ส่วนอาการผิดปกติที่เกิดจากตัวโรค จะดีขึ้นได้จากการทำกายภาพบำบัดทั้งที่โรงพยาบาลและทำต่อที่บ้านเป็นประจำสม่ำเสมอในช่วงเวลา 1 ปีแรก ซึ่งการทำกายภาพบำบัดมีหลากหลายวิธี รวมถึงการออกกำลังกายหรือกายภาพบำบัดในน้ำ (ธาราบำบัด) ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู คำแนะนำว่า อย่านอนอยู่ที่โรงพยาบาลอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหากอาการยังไม่คงที่ ยังคงต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะคงที่ จึงจะสามารถกลับไปฟื้นฟูต่อที่บ้านได้
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา สามารถติดตามที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02 3069899
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การออกกำลังกายในสระน้ำ ไม่ได้ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น แตกต่างจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ประเภทอื่น ๆ โดยการออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ แต่ไม่อาจจะทำให้เนื้อสมองส่วนที่เสียหายหรือตายไปแล้วกลับมาเป็นปกติดได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข