กรณีผลิตภัณฑ์POLLITIN ช่วยสลายเนื้องอก ซีสต์ เเละมะเร็ง ทางอย. ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า POLLITIN เป็นชื่อตราสินค้า ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยในการยื่นขออนุญาต ไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการสลายเนื้องอก ซีสต์ เเละ มะเร็ง ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องมีการแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก
วันนี้ (12 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ POLLITIN ช่วยสลายเนื้องอก ซีสต์ เเละมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีผลิตภัณฑ์ POLLITIN ที่ระบุสรรพคุณในการจำหน่ายว่าช่วยยับยั้งเซลล์เนื้องอก กำจัดเซลล์มะเร็ง มะเร็งลำไส้ มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งทุกชนิด รวมถึงช่วยป้องกันเนื้องอก ซีสต์ สลาย ยุบ ฝ่อลงไม่ให้งอกใหม่ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า POLLITIN เป็นชื่อตราสินค้า ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ตรา พอลลิติน, POLLITIN BRAND) ผลิตโดย บริษัท กรามิเน็กซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งได้มีผลิตภัณฑ์ ตราพอลลิติน ที่ได้รับเลข อย. จำนวน 21 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในการยื่นขออนุญาต ไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการสลายเนื้องอก ซีสต์ เเละ มะเร็ง ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องมีการแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก ซึ่งหากผู้ป่วยหลงเชื่อ ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานเพื่อหวังผลในการบำบัด บรรเทาหรือรักษาโรค จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เสียโอกาสในการรักษา และอาจเสียชีวิตได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตรา POLLITIN ไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการสลายเนื้องอก ซีสต์ เเละมะเร็ง ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องมีการแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข