จากประเด็นต้นจักรนารายณ์ ช่วยรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าต้นจักนารายณ์รักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ มีแต่มีการนำสารสกัดจากใบจักรนารายณ์มาศึกษาวิจัยในระดับเซลล์พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ ซึ่งเป็นการศึกษาเบื้องต้นที่อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น
วันนี้ (10 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏในสื่อออนไลน์ ในประเด็นเรื่อง ต้นจักรนารายณ์ ช่วยรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการเผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อถึงสมุนไพรต้นจักรนารายณ์ ว่ามีสรรพคุณช่วยรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สืบค้นข้อมูลและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าต้นจักนารายณ์รักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ โดยจักรนารายณ์ ชื่ออื่น ๆ แป๊ะตำปึง ผักพันปี เป็นต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura procumbens (Lour.) Merr. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura divaricata (L.) DC. จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น มีการนำใบของจักรนารายณ์มาใช้ในการรักษาฝี แก้ฟกบวม แก้คัน แก้พิษแมลงกัดต่อย งูสวัด และเริม เป็นต้น ใบจักรนารายณ์พบสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น สารฟลาโวนอยด์ เทอร์พีนอยด์ ซาโปนิน และแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบจึงมีการนำสารสกัดจากใบจักรนารายณ์มาศึกษาวิจัยในระดับเซลล์พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวเป็นการศึกษาเบื้องต้นที่อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าต้นจักนารายณ์รักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ มีการนำสารสกัดจากใบจักรนารายณ์มาศึกษาวิจัยในระดับเซลล์พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่เป็นการศึกษาเบื้องต้นที่อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข