xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! เพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากประเด็นเพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) อย. ได้ชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข่าวเก่า ในปี พ.ศ. 2543 ที่อย. พบรายงานอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) อันไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง โดยปัจจุบันยืนยันว่าไม่มีตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีนอยู่เลยในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 20 ปี

วันนี้ (23 ม.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง เพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ตามที่มีการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง การเพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นเรื่องเก่า เพราะโดยในปี พ.ศ. 2543 อย. พบรายงานอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้ยาเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้ ซึ่งเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขให้คืนดีดังเดิมได้ จึงได้สั่งให้ผู้ผลิตยา และผู้นำหรือสั่งยาเข้ามา ในราชอาณาจักรแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนผสมของตัวยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือ เกลือของฟีนิลโปรปาโนลามีน โดยตัดออกจากตำรับยาทุกตำรับ

อย. ขอยืนยันว่าไม่มีตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีนอยู่เลยในประเทศไทยเป็นเวลา 20 ปี แล้ว ซึ่งรวมไปถึงตัวยาที่มีชื่อเผยแพร่ส่งต่อนั้นด้วย จึงขอให้ผู้บริโภควางใจ และขอเตือนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อผ่านทาง Social media เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏแหล่งที่มาและหลักฐานที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อยาทุกครั้งต้องดูเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงอยู่บนฉลาก ดูวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลาก ไม่ควรซื้อยาที่หมดอายุ เพราะนอกจากใช้ไม่ได้ผลแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย ควรซื้อยาที่มีฉลาก และเอกสารกำกับยาครบถ้วน มีตัวหนังสืออ่านได้ชัดเจน ภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ยาที่บรรจุอยู่ก็ต้องมีสภาพดี สมบูรณ์

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อความดังกล่าวเป็นข่าวเก่า ในปี พ.ศ. 2543 ที่อย. พบรายงานอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) จึงได้สั่งให้ผู้ผลิตยา และผู้นำหรือสั่งยาเข้ามา ในประเทศไทยแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนผสมของตัวยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือ เกลือของฟีนิลโปรปาโนลามีน โดยตัดออกจากตำรับยาทุกตำรับ โดยยืนยันว่าไม่มีตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีนอยู่เลยในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)


กำลังโหลดความคิดเห็น