จากประเด็นอย.เอื้อให้มีการผูกขาดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทางอย. ได้ชี้แจงว่า อย.มีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งอย. ไม่เคยได้รับคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนจากโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด มีเพียงหนังสือที่โรงพยาบาลเอกชนรายนี้ยื่นต่อ อย. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 เพื่อขอให้ อย. ลงนามในเอกสารประกอบการจองวัคซีนของบริษัท โดยแจ้งว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียน และขออนุญาตนำเข้าต่อไป
วันนี้ (23 ม.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง อย.เอื้อให้มีการผูกขาดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีข่าวโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ไซโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน โดยอ้างว่า อย. ต้องใช้เวลาพิจารณาวัคซีนโควิด-19 นานถึง 3 เดือน หลังยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนของบริษัท ไซโนแวค ไบโอเทค จริง แต่ผู้ยื่นขออนุญาตคือ “องค์การเภสัชกรรม” อย. ไม่เคยได้รับคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวจากโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด และไม่เคยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทหารือเรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนวัคซีน มีเพียงหนังสือที่โรงพยาบาลเอกชนรายนี้ยื่นต่อ อย. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ อย. ลงนามในเอกสารประกอบการจองวัคซีนของบริษัท โดยแจ้งว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียน และขออนุญาตนำเข้าต่อไป
ทั้งนี้ อย. มีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย โดยต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง เพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งจะพิจารณาโดยยึดหลักที่สำคัญในการประเมิน 3 ด้าน คือ 1. คุณภาพ 2. ความปลอดภัย และ 3. ประสิทธิผลของวัคซีน โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐาน เพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว อย. พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนอย่างเต็มที่ โดยระดมสรรพกำลังทั้งผู้เชี่ยวชาญภายใน และภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบต่อประชาชน
อย. ขอเน้นย้ำว่า อย. ตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ และมีการปรับแนวทางการดำเนินงาน เพื่ออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกประเภทให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโรค รวมทั้งพร้อมให้คำปรึกษาหรือตอบข้อสงสัยตลอดเวลา
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ขณะนี้มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนของบริษัท ไซโนแวค ไบโอเทค จริง แต่ผู้ยื่นขออนุญาตคือ “องค์การเภสัชกรรม” อย. ไม่เคยได้รับคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวจากโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด และไม่เคยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทหารือเรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนวัคซีน มีเพียงหนังสือที่โรงพยาบาลเอกชนรายนี้ยื่นต่อ อย. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ อย. ลงนามในเอกสารประกอบการจองวัคซีนของบริษัท โดยแจ้งว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียน และขออนุญาตนำเข้าต่อไป
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)