กองบริหารการวิจัย ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) จัดงาน วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2567 เพื่อยกย่องสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับ
คณาจารย์และนักวิจัย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและสร้างผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการจัดงานในครั้งนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับนักวิจัยใน 7 สาขา จำนวน 106 คน ประกอบด้วย ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์, ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ, ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง, ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่ผ่าน TURAC, ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน และผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก รวมทั้ง สิ้น 94 รางวัลทั้งนี้ในส่วนของผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เกิดจากกระบวนการสรรหาคณาจารย์หรือนักวิจัยที่ดี จากคณะหรือสาขาวิชาต่างๆ อย่างเข้มข้น และมีแหล่งข้อมูลที่ทันสมัย
“มหาวิทยาลัยเน้นการทำงานเพื่อตอบโจทย์สังคม ทำให้ประเด็นการมองโจทย์การทำงานวิจัยทั้งสายสังคมและวิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม งานวิจัยจึงมีคุณภาพและตอบโจทย์สังคมได้ เท่าทันกับสถานการณ์ เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากนักวิจัยของเราก็ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการทำงานวิจัยต่างๆ มาโดยตลอด”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และนวัตกรรม กล่าวถึงแนวทางสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคมว่า “ในปัจจุบันได้มีการนำเอาผลงานวิจัยของ ม.ธรรมศาสตร์ ไปต่อยอดทั้งในด้านการแพทย์ และสังคม เช่น สร้างความร่วมมือกับกทม. โดยนำผลการวิจัยไปต่อยอดด้านการฟื้นฟูศักยภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งงานวิจัยจะก้าวสู่เวทีโลกได้นั้น จะต้องตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นผลงานที่พูดถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม”
โดยการจัดงานครั้งนี้ มีการประกาศเกียรติคุณพร้อมมอบโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้กับนักวิจัย 2 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง เมธีวิจัยอาวุโส ประจำปี 2567 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านเภสัชวิทยาเข้ากับวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อสู้กับโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะโรคมาลาเรียและมะเร็งท่อน้ำดี
“ปัจจุบันนักวิจัยต้องปรับตัวมาก เพื่อเข้าถึงปัญหา ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำไปบูรณาการเข้ากับงานวิจัยในศาสตร์ของตัวเอง นอกจากนี้ต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ร่วมมือกับผู้มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้ผลงานประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนตั้งแต่มหาวิทยาลัย รัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ ขณะนี้เริ่มมีการจัดระบบการให้ทุนวิจัยที่เป็นกลุ่มหรือคณะ มากกว่าแบบรายบุคคล” ศ.ดร.เกศรา กล่าว
นักวิจัยที่ได้รับโล่รางวัลพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ อีกท่านคือ รศ.ดร.นาถนิรันดร์ จันทร์งาม นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ตัวอย่างงานวิจัย อาทิ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งแยกดินแดน การกำหนดเจตจำนงด้วยตนเองของประชาชน และการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยพิจารณาร่วมกับกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และ 2.บทเรียนและข้อเสนอแนะจากคดีอนุญาโตตุลาการ ภายใต้สนธิสัญญาการลงทุนคดีแรกของประเทศไทย (คดี Walter Bau v. Thailand)
“งานวิจัยที่ทำจะมีประโยชน์ชั้นต้นในทางวิชาการ ขณะนี้มีนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร รัสเซีย บราซิล ได้นำเอาผลงานวิจัยไปใช้ในตำราวิชาการ หรือเอกสารประกอบหลักสูตร ในทางปฎิบัติเมื่อมีข้อพิพาทคดีจริงขึ้นมา หลายคดีได้นำเอาบทความวิจัยไปสู้กัน บางคดีที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของธนาคารโลก ก็ต้องไประงับข้อพิพาทกันที่ธนาคารโลก ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เป็นภาพของความเป็นจริงที่นำไปใช้ที่ไม่ ใช่อยู่แค่ในห้องสมุด นอกจากนี้เมื่อมีการจัดศาลจำลองระหว่างประเทศ นักศึกษาฝึกหัดที่ทำหน้าที่เป็นนักกฎหมายในคดีจะนำผลงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ เป็นประโยชน์ในการสู้คดี ทำคำร้องหรือคำให้ การต่างๆ”
