เพราะ “หมากล้อม” ไม่ใช่แค่เกมการแข่งขันที่เดิมพันด้วยการชนะหรือแพ้ แต่กีฬาบนกระดานประเภทนี้แฝงไว้แง่มุมเชิงลึก ทั้งปรัชญา กลยุทธ์ หรือแม้แต่สะท้อนแนวคิดในการดำเนินชีวิตไว้อย่างลุ่มลึก และหนังอย่าง The Match ก็สามารถถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นออกมาได้ชวนคิด
ผลงานชิ้นนี้สร้างโดยเน็ตฟลิกซ์ประเทศเกาหลีใต้ มีนักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง “อีบยองฮอน” รับบทนำ เคียงคู่กับดาราดาวรุ่งอย่าง “ยูอาอิน” โดยหนังมีจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจมาจากเซียนหมากล้อมของเกาหลีใต้ คือ “โชฮุนฮยอน” และ “อีชางโฮ” เพียงแต่มาแต่งเติมเสริมปรุงเรื่องราวขึ้นใหม่ที่ทางผู้สร้างออกตัวไว้ตั้งแต่ว่า อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด
โดยหนังเล่าย้อนไปยังช่วงปี 1980 ที่มีการจัดการแข่งขันอิงค์คัพเพื่อเฟ้นหาแชมป์หมากล้อมมืออาชีพระดับโลก โดยมีม้านอกสายตาจากเกาหลีอย่าง “โชฮุนฮยอนเก้าดั้ง” เข้าชิงแบบพลิกความคาดหมาย ซึ่งคู่แข่งของเขาคือ “เนี่ยเว่ยผิงเก้าดั้ง” หรือ “หมีดำแห่งแผ่นดินใหญ่” มือหนึ่งของโลกผู้ชนะซูเปอร์ลีกระหว่างจีนและญี่ปุ่น 11 นัดรวด
ผลการแข่งขันปรากฏว่า “ม้านอกสายตา” ชนะไปอย่างน่าอัศจรรย์ ส่งผลให้ “โชฮุนฮยอน” โด่งดังเป็นที่ยอมรับในเกาหลี และได้รับการเรียกขานว่า “อาจารย์โชเก้าดั้ง” ซึ่งคำว่า “ดั้ง” เป็นคำเรียกระดับฝีมือในการเล่าหมากล้อม สูงสุดอยู่ที่เก้าดั้ง ดังนั้น อาจารย์โชที่อยู่ในระดับเก้าดั้งจึงได้รับความชื่นชมนับถือจากคนเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากความเก่ง ยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติด้วย
อย่างไรก็ดี นอกจากอาจารย์โชแล้ว เกาหลียังมีเซียนหมากล้อมอีกคนหนึ่ง นั่นก็คือ “อีชางโช” ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิที่อาจารย์โชสอนมากับมือ ทั้งสองคนเรียกได้ว่าฝีมือระดับเทพถึงขนาดเดิน “หมากล้อมในจินตนาการบนกระดานที่ว่างเปล่า” ได้ แต่ทว่าด้วยสไตล์การเล่นที่แตกต่างระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่หนังหยิบเอามาใช้ในการสร้างปมได้อย่างทรงพลัง
อีกอย่างที่ต้องชม คือแม้จะเป็นเกมกีฬาที่เล่นกันอย่างเงียบ ๆ แต่ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องกลับทำให้เราดูไปลุ้นไปได้อย่างไม่น่าเบื่อ ภาพของตัวละครที่นั่งเผชิญหน้ากันหน้ากระดานหมากล้อม และใช้ความคิดในการเดินหมาก ดูเหมือนนักวางกลยุทธ์ที่จะพิสูจน์แพ้ชนะในสงคราม บางครั้งบางคราวประลองกันแบบหามรุ่งหามค่ำหน้าดำคร่ำเครียด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กีฬาชนิดนี้ไม่ใช่ “หมากงี่เง่า” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันต้องใช้สติปัญญาและกำลังแรงกายแรงใจอย่างใหญ่หลวงไม่แพ้กีฬาประเภทไหน ๆ
จะว่าไป หนังทั้งเรื่องล้วนใช้เวลาไปกับครูกับศิษย์เกือบทั้งหมด โดยช่วงแรกให้ความรู้สึกเหมือนหนังจอมยุทธที่ศิษย์ได้พบกับอาจารย์และได้รับการถ่ายทอดวิทยาความรู้ตามหลักการและแนวทางที่อาจารย์เห็นว่าดี ซึ่งในพาร์ทนี้ก็มีแนวคิดดี ๆ ให้เก็บเกี่ยวครุ่นคิด ไม่ใช่แค่เรื่องหมากล้อม แต่หมายรวมถึงการดำเนินชีวิตที่ “อาจารย์โช” พยายามพร่ำสอนอีชางโฮตั้งแต่เป็นเด็กจนโตเป็นหนุ่ม ด้วยการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการ “สร้างพื้นฐานให้แน่น” แล้วจึงค่อยปรับตีความ จนสามารถค้นพบหมากล้อมของตัวเอง
“นายเจอหมากล้อมของตัวเองแล้ว ถ้าหากนั่นเป็นสิ่งที่นายเลือก นายก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งหมากล้อมและชีวิต” ในครั้งหนึ่ง อาจารย์โช ได้บอกับอีชางโฮไปอย่างนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว หมากล้อมก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิตเช่นกัน
สำหรับ “อีบยองฮอน” กับบทบาทของเซียนหมากล้อมนั้นดูเท่เหมือนกับปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเพลงยุทธ์ แถมมีคาแร็กเตอร์โดดเด่นเป็นที่จดจำ เพราะทุกครั้งที่เขาคิดว่าตัวเองกำลังจะชนะแน่นอน เขาจะสั่นขาข้างขวาเสมอ กลายเป็นท่าไม้ตายที่ข่มขวัญคู่ต่อสู้ให้ขวัญหนีดีฝ่อ จากที่คิดว่าน่าจะพอมีโอกาสพลิกกลับมาเอาชัยหรือเสมอได้ ก็กลายเป็นยกธงยอมแพ้ลุกหนีไปดื้อ ๆ ก็มี
นับเป็นอีกหนึ่งบทที่แตกต่างของนักแสดงคนนี้และได้เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกที่ดิ่งลึกอีกบทหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เขาต้องต่อสู้กับความคิดจิตใจตนเองเพราะไม่อาจทำใจยอมรับเรื่องบางเรื่อง ซึ่งสะท้อนถึงหัวใจและความหมายที่แท้จริงของหมากล้อมที่เขาสอนให้กับศิษย์ว่า “หมากล้อมคือการต่อสู้กับตัวเอง” กับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งหากไม่เข้าใจก็อาจไปถึงจุดที่ยอมรับตัวเองไม่ได้และทำลายตัวเองไปในที่สุด
เช่นเดียวกับ “ยูอาอิน” ที่บทของเขาแม้จะดูนิ่ง ๆ แต่เหมือนมีพายุพร้อมจะปะทุอยู่ภายในตลอดเวลา บทของเขามีมิติทั้งความขัดแย้งในตัวเองและขัดแย้งกับความคาดหวังของผู้อื่น มีความขมขื่นอยู่ลึก ๆ ก่อนจะตกตะกอนและตกผลึกในความหมายหลายอย่าง แม้กระทั่งการเลือกเส้นทางของตัวเองบนกระดานหมากล้อม
ว่ากันอย่างถึงที่สุด The Match เป็นหนังดราม่าที่สามารถแกะเอาความลุ่มลึกของปรัชญาจากกีฬาหมากล้อมมาสื่อสารผ่านเรื่องราวได้อย่างคมคายให้แง่คิด ซึ่งสามารถต่อยอดกับการดำเนินชีวิตหรือแม้แต่การทำงานได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งความสนุกน่าติดตามอันเป็นอรรถรสของการดูหนัง และที่สำคัญ อยากจะบอกว่า ช่วง End Credit นั้นดีงามมาก เพราะสะท้อนถึงหัวจิตหัวใจและความยิ่งใหญ่ของทั้งอาจารย์และศิษย์ที่ยังคงปักหลักเป็นเสาเอกต้นแบบให้กับนักเล่นหมากล้อมของเกาหลีใต้อย่างไม่วางมือ
